ดร.สามารถ » ล้มสายสีส้ม สู้ไม่สุดซอย ถอยดีกว่า

ล้มสายสีส้ม สู้ไม่สุดซอย ถอยดีกว่า

8 กุมภาพันธ์ 2021
0

ล้มสายสีส้ม สู้ไม่สุดซอย ถอยดีกว่า

น่าเสียดายที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สู้ไม่สุดซอย ถอยเสียก่อน ไม่รอฟังคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด สร้างความผิดหวังให้กับผู้เกาะติดการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ไม่รู้ว่าใครจะแพ้ ใครจะชนะ

ในที่สุด รฟม.ได้ประกาศล้มการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างไม่เกรงกลัวต่อข้อครหาของผู้ติดตามการประมูลที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการประมูลไทย

รฟม.ประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีผู้ซื้อเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) 10 ราย หลังจากปิดขาย RFP แล้ว มีเอกชนเพียงรายเดียวร้องขอให้เปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกจากเดิมที่จะต้องพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคก่อน หากสอบผ่านก็จะพิจารณาข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม. ใครให้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล เป็นเกณฑ์ใหม่ที่จะพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอผลตอบแทน ใครได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งอาจทำให้ผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลก็ได้ ทำให้ รฟม.ไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้ เกณฑ์ใหม่ทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุดจริงหรือ?

รฟม.อ้างว่าเกณฑ์ใหม่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ กล่าวคือการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลด้วยการพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม. จะทำให้สามารถคัดเลือกผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง เนื่องจากโครงการนี้ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพราะต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา รฟม.ไม่ได้พิจารณาแค่เพียงข้อเสนอผลตอบแทนเท่านั้น แต่ผมมีความเห็นว่าเกณฑ์ใหม่สู้เกณฑ์เดิมไม่ได้ เนื่องจากเกณฑ์ใหม่ไม่ได้กำหนดคะแนนขั้นต่ำด้านเทคนิคไว้ นั่นหมายความว่าผู้ที่ได้คะแนนด้านเทคนิคไม่ว่าจะต่ำเพียงใดก็จะได้รับการพิจารณา และอาจได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะถ้าเขาเสนอผลตอบแทนให้แก่ รฟม.สูงมาก เป็นผลให้ รฟม.ไม่ได้ผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงตามที่ รฟม.ต้องการ

นอกจากนี้ เกณฑ์ใหม่จะเปิดโอกาสให้กรรมการคัดเลือกช่วยเอกชนรายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้ชนะก็ได้ กล่าวคือเมื่อกรรมการฯ เห็นข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมๆ กับข้อเสนอผลตอบแทน ทำให้รู้ว่าจะต้องให้คะแนนอย่างไรจึงจะทำให้เอกชนรายนั้นเป็นผู้ชนะ เช่น หากต้องการช่วยเอกชน A ซึ่งเสนอผลตอบแทนต่ำกว่า ให้ชนะเอกชน B ซึ่งเสนอผลตอบแทนสูงกว่า กรรมการฯ ก็อาจให้เอกชน A ได้คะแนนด้านเทคนิคสูงกว่าเอกชน B เพื่อทำให้เอกชน A ได้คะแนนรวมสูงกว่า ซึ่งจะได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะทั้งๆ ที่เสนอผลตอบแทนต่ำกว่า ทำให้ รฟม.ไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้

ต่างกับเกณฑ์เดิมที่ให้ความสำคัญกับความสามารถด้านเทคนิคเป็นอย่างมาก โดยจะพิจารณาความสามารถด้านเทคนิคก่อน ซึ่งจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 85% ถ้าได้น้อยกว่าก็ถือว่าสอบตก รฟม.จะไม่พิจารณาข้อเสนอผลตอบแทนต่อไป ทำให้ผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูงสามารถทำการก่อสร้างในพื้นที่ใดก็ได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ รฟม.ได้ผู้ชนะการประมูลที่เสนอผลตอบแทนสูงที่สุดด้วย

สรุปได้ว่า เกณฑ์ใหม่จะไม่ทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด สู้เกณฑ์เดิมไม่ได้ รฟม.จึงต้องใช้เกณฑ์เดิมในการประมูลโครงการที่ต้องการผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง ดังเช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผมขอย้ำว่าเกณฑ์เดิมมีความเหมาะสมกับโครงการของ รฟม.มากกว่าเกณฑ์ใหม่อย่างแน่นอน

คงเป็นเหตุผลนี้กระมังที่ทำให้ผู้แทนสำนักงบประมาณซึ่งร่วมเป็นกรรมการฯ “ยืนหนึ่ง” ค้านการใช้เกณฑ์ใหม่ตลอดมารฟม.เคยใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอผลตอบแทนมาก่อน!

อันที่จริง รฟม.เคยใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคพร้อมกับข้อเสนอผลตอบแทนมาก่อน แต่เป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หลังจากนั้น รฟม.ไม่ใช้เกณฑ์นี้อีกเลย เพราะรู้ว่าเกณฑ์นี้ลดความสำคัญของข้อเสนอด้านเทคนิค ไม่เหมาะสมกับโครงการที่มีความซับซ้อน ดังนั้น ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าต่อมา รฟม.จึงเลือกพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคก่อน หากสอบผ่านจึงจะพิจารณาข้อเสนอผลตอบแทน หากสอบตกก็จะไม่พิจารณาข้อเสนอผลตอบแทน ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความสำคัญต่อข้อเสนอด้านเทคนิคอย่างแท้จริง ทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลที่มีความสามารถด้านเทคนิคสูง และให้ผลตอบแทนแก่ รฟม.สูงที่สุดด้วย แต่อะไรทำให้ รฟม.ต้องกลับไปใช้เกณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับโครงการที่มีความซับซ้อนดังเช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอีก?

บีทีเอสฟ้องศาลปกครองกลาง

บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสเห็นว่าการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง จึงฟ้องศาลปกครองกลางโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนเกณฑ์ใหม่ หรือไม่ให้ รฟม.ใช้เกณฑ์ใหม่ และขอให้ศาลทุเลาการใช้เกณฑ์ใหม่ก่อนที่จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือไม่ให้ รฟม.ใช้เกณฑ์ใหม่ในระหว่างที่รอการพิจารณาของศาล ในที่สุดศาลได้มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้เกณฑ์ใหม่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยศาลได้ระบุไว้ในคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล “จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย” รฟม.ไม่เห็นด้วย จึงเดินหน้าสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดโดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง

รฟม.สู้ไม่สุดซอยแต่ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม.ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน น่าเสียดายที่ รฟม.สู้ไม่สุดซอย โดยอ้างว่าถ้าสู้ต่อไปจะทำให้เสียเวลานาน แต่ถ้าล้มประมูลจะเสียเวลาน้อยกว่า แต่ผมเห็นว่าถ้าสู้ให้สุดซอยก็จะทำให้รู้ว่าการที่ รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์การประมูลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? และเกณฑ์ใหม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติจริงหรือไม่?

อันที่จริง ถ้า รฟม.ทนรอคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดต่อไปอีกสักหน่อย ซึ่งคาดว่าในอีกไม่นานศาลน่าจะมีคำสั่งลงมา และถ้าศาลมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง นั่นหมายความว่า รฟม.ไม่สามารถใช้เกณฑ์ใหม่ได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นเหมือนกับศาลปกครองกลางเช่นนี้ โอกาสที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นคงยากมาก ดังนั้น รฟม.จึงสามารถเดินหน้าประมูลต่อไปโดยใช้เกณฑ์เดิมได้ ซึ่งสามารถประหยัดเวลาได้เมื่อเปรียบเทียบกับการล้มประมูลแล้วเปิดประมูลใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้า รฟม.ไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูลก็จะไม่เสียเวลาเลย ใช่ไหม?

ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง


ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประขาธิปัตย์

error: Content is protected !!