ข่าวใหม่อัพเดท » พม่ายึดตลาด ไร้วี่แววเจ้าหน้าที่รัฐช่วยเหลือ

พม่ายึดตลาด ไร้วี่แววเจ้าหน้าที่รัฐช่วยเหลือ

8 มิถุนายน 2022
0

พม่ายึดตลาด ไร้วี่แววเจ้าหน้าที่รัฐช่วยเหลือ

วันที่ 7 มิ.ย. 2565 สำนักข่าวความมั่นคง ได้ทราบข้อมูลจากประชาชน และพ่อค้าแม่ค้าที่อาศัยอยู่ในเขต อ.เมือง จ.ระนอง ว่าในจังหวัดระนองได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ อย่างไรในเวลานี้ การทำมาหากินก็ยากลำบากอยู่แล้ว ซ้ำยังมีคนต่างด้าวชาวพม่า เข้ามาแย่งอาชีพขายผัก ผลไม้ และอาหารต่างๆ กันอย่างคึกคัก โดยมีกลุ่มคนไทยที่หวังผลประโยชน์จากเงินค่าจ้าง ด้วยการรับจ้างขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างของบุคคลต่างด้าว และคอยพิทักษ์ปกป้องชาวพม่าเหล่านี้ หากมีการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ก็จะออกมาแสดงตัว โวยวายว่า “กลั่นแกล้ง รังแกประชาชนผู้ทำมาหากินสุจริต” นายจ้างกำมะลอ ที่กระทำอย่างนี้นับเป็นภัยต่อสังคมอย่างยิ่ง ปัญหานี้มีมานานแล้ว ชาวเมืองระนองทราบกันดี แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งที่มีอยู่หลายหน่วยงานในพื้นที่กลับไม่ทราบ

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวความมั่นคงใช้เวลาหลายวัน เพื่อตรวจสอบและสังเกตการณ์เรื่องนี้ จากร้านค้าและแผงลอยในตลาดทุกแห่งในตัวเมืองระนอง ไม่ปรากฏว่ามีนายจ้างคนไทยปรากฏตัว เข้าไปนั่งหรือดำเนินการใดๆ ภายในร้านแม้แต่แห่งเดียว จนทราบแน่ชัดว่าชาวพม่าที่มาประกอบกิจการค้าขายในตัวเมืองแห่งนี้ เป็นเจ้าของและประกอบกิจการด้วยตัวเอง มีพฤติการณ์ค้าขาย รับเงินและทอนเงินจากการค้าขายด้วยตัวเอง โดยไม่มีนายจ้างอยู่ด้วยขณะทำการค้าขาย

สิ่งที่ผู้ประกอบกิจการควรทราบคือ นายจ้างสามารถจ้างคนงานต่างด้าวทำงานขายของหน้าร้านได้จะต้อง มี 2 เงื่อนไข คือ ได้จดทะเบียนพาณิชย์ หรือเข้าข้อยกเว้นสำหรับพาณิชยกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 มาตรา 7 และ นายจ้างผู้นั้นจะได้รับสิทธิในการจ้างดังนี้

1.) กรณีได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ในปีภาษีที่ผ่านมา จ้างได้ 1 คน

2.) กรณีชำระภาษีเงินได้ ในปีภาษีที่ผ่านมาไม่เกิน 50,000 บาท จ้างได้ 3 คน

3.) กรณีได้ชำระภาษีมากกว่า 50,000 บาท จะจ้างได้เพิ่ม 1 คน และทุกๆ 50,000 บาท จะได้เพิ่มอีก 1 คน แต่ไม่เกิน 10 คน

4.) กรณีหากลูกจ้างครบจำนวนข้อ 2 ถ้ามีลูกจ้างคนไทย 30 คน จะจ้างคนงานต่างด้าวได้เพิ่ม 1 คน และทุกๆจำนวนลูกจ้างคนไทยที่เพิ่มขึ้น 10 คน จะจ้างคนต่างด้าวได้เพิ่ม 1 คนโดยจำนวนคนต่างด้าวทั้งหมดไม่เกิน 20 คน

5.)กรณีเพิ่งประกอบกิจการ หรือเพิ่งจดทะเบียนในปีภาษีที่ผ่านมา จ้างคนต่างด้าวได้ 1 คน ถ้ามีลูกจ้างคนไทย 10 คน จะจ้างคนงานต่างด้าวได้เพิ่ม 1 คน และ ทุกๆ จำนวนลูกจ้างคนไทยที่เพิ่มขึ้น 10 คน จะจ้างคนต่างด้าวได้เพิ่ม 1 คน โดยจำนวนคนต่างด้าวทั้งหมดไม่เกิน 3 คน

เมื่อทราบพฤติการณ์และเงื่อนไขแล้ว การกระทำของคนต่างด้าวเหล่านี้ขัดกับ ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ในส่วนของ บัญชีที่4 งานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข คนต่างด้าวเหล่านี้จึงมีความผิดฐานทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำหรือทำงานผิดกฎหมาย หรือกรณีมีนายจ้างกำมะลอ คนต่างด้าว มีความผิดฐานเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ เป็นความผิด ตาม พ.ร.ก.การบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก้ไข พ.ศ.2561 ม.8 มีอัตราโทษ ปรับ 5,000-50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ

สำหรับคนไทยที่แสดงตัวเป็นนายจ้างกำมะลอ นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ เป็นความผิด ตาม พ.ร.ก. การบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก้ไข พ.ศ.2561 ม.9 มีอัตราโทษ ปรับ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่มีนิสัยชอบสงสารและมักเข้าข้างคนต่างด้าว และมีคนบางกลุ่มมองว่าจ้างแรงงานมาทำงานแล้ว สามารถทำได้แค่ช่วยหยิบของ ห้ามจับเงินหรือทอนเงิน และต้องมีนายจ้างเจ้าของร้านซึ่งเป็นคนไทยคอยกำกับดูแล ทำให้ขาดความสะดวกสบายของตัวเอง และเป็นการเคร่งครัดเกินไปนั้น ขอเตือนสติว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ อย่ามองเพียงด้านเดียวเพราะอีกด้านหนึ่งยังมีคนกำลังเดือดร้อนไร้ที่พึ่ง

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวความมั่นคงได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าฝุ่นใต้พรมอยู่ตรงไหน ถึงเวลาเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องแสดงบทบาทความรับผิดชอบในหน้าที่ของท่านแล้ว จึงฝากให้ช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย


เพชร ชุมพร รายงาน

error: Content is protected !!