ข่าวใหม่อัพเดท » มท.3 นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครง การ “โคก หนอง นา โมเดล” บ้านดงยอ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองนครพนม

มท.3 นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครง การ “โคก หนอง นา โมเดล” บ้านดงยอ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองนครพนม

5 มีนาคม 2021
0

นครพนม – มท.3 นำทีมคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครง การ”โคก หนอง นา โมเดล” บ้านดงยอ ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

วันที่ 4 มีนาคม 2564 เวลา 11.00 น. ณ บ้านดงยอ หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อตรวจราชการหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการพัฒนาชุมชน และการประปาส่วนภูมิภาค โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยคนที่ 2 นายอำเภอเมืองนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรภาคเอกชน กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านกลาง และพี่น้องประชาชนบ้านดงยอ ร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูลแก่คณะผู้ตรวจราชการฯ

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดนครพนม ในครั้งนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงาน ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการพัฒนาชุมชน และการประปาส่วนภูมิภาคโดยให้หน่วยงานขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการ ร่วมกัน เกื้อกูลในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP ในชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ให้ทุกคนได้รู้จักสินค้า ทำอย่างไรสินค้าจึงจะมีมูลค่าราคาเป็นแสน เหมือนเช่นผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์ โดยเน้นย้ำ “การตลาดนำการผลิต” เช่น การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน พออยู่ พอกิน แบ่งปัน เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้านนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวยินดีต้อนรับ ที่กรุณาให้เกียรติมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดนครพนม ณ พื้นที่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในวันนี้ จังหวัดนครพนม มีประชากร 71 7,078 คน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ 99 ตำบล 1,131 หมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 5,513 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3.45 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอำเภอชายแดน 4 อำเภอ มีระยะทางตามแนวชายแดนยาวประมาณ 174 กิโลเมตร มีจุดผ่านแดน 6 จุด แบ่งเป็น จุดผ่านแดนถาวร 2 จุด ได้แก่ สะพานมิตรภาพ 3 และท่าเทียบเรือเทศบาลเมืองนครพนม และจุดผ่อนปรน 4 จุด ได้แก่ อำเภอบ้านแพง ท่าอุเทน อำเภอเมืองนครพนม และธาตุพนม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ในปี 2561 มีมูลค่า 44,184 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.2 และผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว (GPPPer Capita) มูลค่า 78,802 บาท/คน/ปี จัดอยู่ลำดับที่ 1 ของกลุ่มจังหวัด ลำดับที่ 6 ของภาค และลำดับที่ 57 ของประเทศ มูลค่าการผลิตของจังหวัดนครพนม ส่วนใหญ่มาจากสินค้าทางด้านการเกษตร การปศุสัตว์ การประมง และอุตสาหกรรม
การค้าชายแดน ในปี 2563 มีมูลค่า 73,225 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 (82,903 ล้านบาท) ร้อยละ 11.67 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

จังหวัดนครพนมได้น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคกหนอง นา โมเดล สู่การปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนองนา โมเดล” โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พ.ศ. 2564 โครงการโคก หนอง นา ประชารัฐสามัคคี จังหวัดนครพนม และโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังจังหวัดนครพนม รายละเอียดโครงการจักได้มอบหมายให้พัฒนาการจังหวัดนครพนมเป็นผู้นำเสนอตามลำดับต่อไป

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม โดย นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม ได้รายงานผลการน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล สู่การปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดนครพนม เพิ่มเติม ดังนี้

  1. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กลุ่มเป้าหมาย 81 ครัวเรือน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ 80 คน ดำเนินการ 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นฯ, (ดำเนินการแล้ว) กิจกรรมพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ, (ปรับพื้นที่) กิจกรรมสร้างงานสร้างรายได้รายเดือน, และกิจกรรม”เอามื้อสามัคคี”
  2. โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย 115 ครัวเรือน ดำเนินการ 5 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล, กิจกรรมสัมมนาการเรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอพียง, กิจกรรมการจัดทำแผนพัฒนาวิถีเศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมปรับปรุงพื้นที่ตามแบบมาตรฐาน โคก หนอง นา โมเดล (อยู่ระหว่างการดำเนินการ)
  3. โครงการ โคก หนอง นา ประชารัฐสามัคคี จังหวัดนครพนม มีการบูรณาการความร่วมมือ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมกัน 8 คณะทำงาน ในลักษณะประชารัฐสามัคคี เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่แปลงนาของเกษตรกร ให้มีความพร้อมสำหรับการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ภายใต้แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัทเซ็นทรัล และคัดเลือกผู้สนใจและมีพื้นที่เหมาะสม 5 ราย ได้ดำเนินการขุดพื้นที่ โคก หนอง นา โมเดล รายแปลง นายอดุลย์ โบราณกุล อำเภอนาทม
  4. โครงการ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังจังหวัดนครพนม ได้แต่งตั้งคณะทำงานประจำศูนย์ประสานงานฯ และคณะทำงานติดตามฯ ช่วยเหลือผู้ผ่านการอบรมในพื้นที่ จำนวน 4 ราย อย่างต่อเนื่อง

หลังจากนั้นคณะผู้ตรวจราชการฯ ได้เยี่ยมชมแปลงครัวเรือนโครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ของนายประดิษฐ์ หนองอุดม ครัวเรือนต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล ของประดิษฐ์ หนองอุดม ซึ่งเป็นครัวเรือนที่เข้ารับการฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนองนา โมเดล” ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 22-26 มกราคม 2563 เริ่มปรับพื้นที่เดือน กุมภาพันธ์ 2563 จากนั้น ปลูกต้นไม้ 5 ระดับ ทำให้มีรายได้จากการขายพืชผักระยะสั้น เฉลี่ยวันละ 200 บาท ลดรายจ่ายได้เฉลี่ยวันละ 200 บาท รวมมีรายได้เพิ่มวันละ 400 บาท ในระยะไม่ถึง 1 ปี โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ตามโครงการ โคก หนอง นา โมเดล ในอนาคต เพื่อขยายผลเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้กับผู้ที่มีความสนใจทั่วไป และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน และยังได้ร่วมปลูกไม้ยืนต้น อาทิ มะม่วง ขนุน มะนาว ส้มโอ กับพี่น้องชาวจังหวัดนครพนม ณ แปลง “โคก หนอง นา โมเดล” ของนายประดิษฐ์ หนองอุดม อีกด้วย


เทพพนม รายงาน

error: Content is protected !!