ข่าวใหม่อัพเดท » เลขาฯ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย แจ้งกรมปศุสัตว์เตรียมจัดการพระสงฆ์ ที่เอาสัตว์มาใช้เป็นเครื่องมือเรียกความสนใจให้คนทำบุญ

เลขาฯ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย แจ้งกรมปศุสัตว์เตรียมจัดการพระสงฆ์ ที่เอาสัตว์มาใช้เป็นเครื่องมือเรียกความสนใจให้คนทำบุญ

30 ตุลาคม 2020
0

เลขาฯ สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยแจ้ง กรมปศุสัตว์เตรียมจัดการพระสงฆ์ที่เอาสัตว์มาใช้เป็นเครื่องมือเรียกความสนใจให้คนทำบุญ

          วันที่ 29 ต.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายโรเจอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีคนร้องเรียนเรื่องพระหนูที รีเทินนำวัวมาเดินบิณฑบาตรนั้น ทางกรมปศุสัตว์รับทราบและร่วมจับตามองอยู่ หากใครพบเห็นที่ไหนขอให้แจ้งตำรวจ เทศกิจ หรือปศุสัตว์ในพื้นที่ได้ทันที

          โดยทางกรมปศุสัตว์ได้เตรียมแนวทางที่จะดำเนินการเรื่องการใช้สัตว์มาบิณฑบาต (ทำงานบนถนน) ซึ่งน่าจะนำไปบังคับใช้ได้กับการกระทำโดยบุคคลธรรมดาด้วยดังต่อไปนี้

  1. ​สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ เมื่อได้รับแจ้งว่ามีการนำสัตว์มาร่วมบิณฑบาต ให้ประสานงานกับด่านกักสัตว์ในพื้นที่ และสถานีตำรวจท้องที่เพื่อดำเนินการ
  2. เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 25(4) ยึดหรืออายัดสัตว์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าถูกทารุณกรรมเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี การยึดหรืออายัดสัตว์ไว้ในที่ที่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดไว้ให้
  3. เมื่อดำเนินการควบคุมสัตว์แล้วให้ตรวจสอบเอกสารและพฤติกรรม ดังนี้
    1. เอกสารตั๋วรูปพรรณสัตว์ ตามพระราชบัญญัติพาหนะ พ.ศ.2482 (ถ้ามี)
    1. ใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
    2. ตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าของหรือผู้ดูแลสัตว์ว่าเข้าข่ายความผิดการทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์ มาตรา 3 มาตรา 20 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัด สวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 หรือไม่
  4. ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ควบคุมสัตว์ไม่มีตั๋วรูปพรรณหรือหลักฐานประจำตัวสัตว์ที่แสดงการได้มา และสงสัยว่าเป็นสัตว์ที่ถูกขโมยให้ส่งให้เจ้าพนักงานสอบสวนท้องที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
  5. หากพบว่ามีตั๋วรูปพรรณหรือหลักฐานประจำตัวถูกต้อง แต่ไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ (ร.4) ให้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ตามความผิดในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประกอบกับระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการอนุญาต การตรวจโรคและการทำลายเชื้อโรค พ.ศ.2546 และดำเนินการตามข้อ 4 ต่อไป
  6. หากพบการกระทำความผิดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ส่งผู้กระทำความผิดพร้อมกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ดังนี้
    1. ​การทารุณกรรมสัตว์ ตามมาตรา 3 และ 20 แล้วแต่กรณี ได้แก่ การใช้สัตว์พิการ เจ็บป่วย ชรา กำลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ หรือใช้ช้างอ่อนอายุ ชรา เจ็บป่วย ให้ทำงานเรี่ยไรซึ่งเป็นงานที่ไม่สมควร
    2. การจัดสวัสดิภาพสัตว์ ตามมาตรา 22 ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2561 ข้อ 4(2) เจ้าของสัตว์ต้องจัดให้สัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและความปลอดภัยต่อสัตว์ และ ข้อ 4(4) เจ้าของสัตว์ต้องจัดไม่ให้สัตว์ได้รับความเครียด หวาดกลัว เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งการนำสัตว์มาเดินบนถนน ในชุมชน ทำให้สัตว์ได้รับความหวาดกลัว เจ็บปวด ทรมาน และ ไม่ได้รับความปลอดภัย
  7. ในขณะที่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลสัตว์ ให้ยึดหรือกักสัตว์ไว้ในสถานที่ตามข้อ 2 โดยให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ควบคุมสัตว์เป็นผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่ให้ความสะดวกในการดูแลสัตว์นั้นตามหน้าที่ในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 จนกว่าจะสิ้นสุดคดี
  8. หากตรวจสอบพบว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์ไม่มีใบเคลื่อนย้ายสัตว์ (ร.4) ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อีกด้วย

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!