ข่าวใหม่อัพเดท » โฆษก ศบค. วอนจัดระบบการรับ-แจก ของแจก ป้องกันไม่ให้เกิด Super Spreader จนเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง

โฆษก ศบค. วอนจัดระบบการรับ-แจก ของแจก ป้องกันไม่ให้เกิด Super Spreader จนเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง

19 เมษายน 2020
0

โฆษก ศบค. วอนจัดระบบการรับ-แจก ของแจก ป้องกันไม่ให้เกิด Super Spreader จนเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง

ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ส่งคำถามผ่านโซเซียลมีเดีย ระหว่างการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. ยืนยันกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการดูแลอย่างครอบคลุมกรณีคนไทยที่ลงทะเบียนกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 15 – 18 เม.ย. 63 เพื่อรอเดินทางกลับประเทศไทยทางด่านข้ามพรมแดนต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมแล้วมีจำนวน 1,984 คน โดยในวันที่ 18 เม.ย. 63 จะมีผู้เดินทางเข้ามาอีก 387 คน วันที่ 19 เม.ย. 63 มี 422 คน และวันที่ 20 เม.ย. 63 มี 420 คน ซึ่งในแต่ละด่านอาจแบ่งกันมา จำนวนผู้เดินทางกลับเข้ามาต่ำกว่า 200 คน ถ้าเฉพาะด่านข้ามพรมแดนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ลงทะเบียนเพื่อจะเดินทางกลับประเทศไทย 1,604 คน ซึ่งจะทยอยเดินทางเข้ามาตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน เฉลี่ยแล้ววันละประมาณ 200 – 300 คน และจะน้อยลงเรื่อย ๆ ในกรณีจำนวนผู้ที่เดินทางกลับเข้าประเทศไทยทางสายการบินก็จะมีจำนวนน้อยมากกว่าในแต่ละวัน ทั้งนี้ จะมีการรายงานให้ประชาชนได้ทราบถึงข้อมูลอยู่เสมอ

โฆษก ศบค. ได้ชี้แจงว่าได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ในการดำเนินการ State Quarantine เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่จะเดินทางกลับมา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่ในภาคกลางจะเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หากไม่เพียงพอจะขยายไปภาคตะวันออกหรือพื้นที่ใกล้เคียงได้ ส่วนตามจังหวัดต่าง ๆ ที่ติดกับชายแดนก็ถูกจัดเป็นพื้นที่ในการทำ Local Quarantine ขอให้มั่นใจว่าในตอนนี้มีพื้นที่ในการทำ Quarantine เพียงพอกับทุกคน

กรณีคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศอินโดนีเซียหลังเข้าสู่กระบวนการสังเกตอาการ หรือ State Quarantine ที่ฐานทัพเรือสัตหีบครบ 14 วันแล้ว แต่พบว่ามี 4 คนที่มีอาการไข้สูง อาจมีการติดเชื้อภายหลังนั้น เมื่อกลับบ้านแล้วควรปฏิบัติทำ Local Quarantine นั้น โฆษก ศบค. ชี้แจงว่า ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสนั้นอยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 5 – 7 วัน เหมือนกรณีผู้ที่เดินทางกลับมาจากอู่ฮั่น และเกาหลีใต้ เมื่อพ้นกระบวนการกักตัว 14 วันแล้วแต่ยังพบว่ามีไข้สูงก็จะทำการรักษาต่อ ในกรณี 4 คนที่เดินทางกลับจากอินโดนีเซียก็จะทำการรักษาต่อเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นกระบวนการ State Quarantine และ Local Quarantine ระยะเวลา 14 วันนั้นจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญมากเพื่อเป็นการสังเกตุอาการอย่างรอบคอบ ในส่วนของผู้ที่ไม่พบการติดเชื้อ สามารถกลับบ้านได้แล้ว หากหลังจากการกักตัว 14 วันแล้วไม่พบอาการติดเชื้อ แต่ไปอยู่ในที่คนพลุ่กพล่านไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย มั่วสุมกับกลุ่มคน อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และแพร่กระจายไปสู่คนอื่นได้ จึงได้มีการใช้มาตรการ Active Case Finding เพื่อตรวจกลุ่มคนเฉพาะที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อยืนยัน ซึ่งกลุ่มคนอายุ 20 – 39 ปี มีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสแต่ไม่แสดงอาการเลย มักจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ ยกเว้นกลุ่มคนที่เคยมีติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรักษาหายแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันและมีความเสี่ยงในการเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสน้อยกว่า จึงขอความร่วมมือให้ทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ก็ตาม

สื่อมวลชนยังได้สอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิต และกรณีการบริจาคสิ่งของในพื้นที่เขตดอนเมืองที่ทำให้เกิดความแออัด ภาครัฐจะมีการแก้ไขอย่างไร โดยโฆษก ศบค. ชี้แจงว่า โรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ แต่เป็นโรคที่เกิดภาวะบกพร่องของอินซูลินในร่างกาย น้ำตาลในเลือดสูงและแทรกซ้อนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความเสียหายในร่างกาย เช่น ตา ไต ตับ รวมไปถึงเส้นเลือดฝอยในร่างกาย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวานและได้รับเชื้อไวรัสโควิด19 จะทำให้ร่างกายที่ไม่แข็งแรง ทรุดลงได้อีก และอวัยวะที่ไม่แข็งแรงพอจะต่อสู้กับโรคได้ ก็อาจจะทำให้เสียชีวิตในที่สุด

โฆษก ศบค. ยังได้กล่าวถึงกรณีการบริจาคสิ่งของในพื้นที่เขตดอนเมืองที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของประชาชนเป็นจำนวนมาก สร้างความแออัด มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด19 นั้น ได้มีการสื่อสารไปยังผู้ให้บริจาคแล้วว่า การชุมนุมกันหรือการอยู่ในพื้นที่ชุมชนมาก ๆ ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด19 จึงได้ขอร้องผู้ที่ให้การบริจาคมีการจัดการที่เป็นระบบมากกว่านี้ เพราะถือเป็นข้อกำหนดกฎหมายที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และการกระทำดังกล่างถือว่าไม่ได้เป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ในการห้ามชุมนุมกัน อย่างไรก็ตาม ฝากถึงประชาชนที่ได้ไปรอรับของบริจาคให้เฝ้าระวัง ติดตามอาการของตนเอง ถ้าพบว่ามีไข้ ไอ เจ็บคอ หรืออาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน รวมทั้ง ครอบครัว ญาติพี่น้องที่ได้ไปร่วมรับของบริจาคดังกล่าว ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะเดียวกันฝ่ายความมั่นคงของจังหวัด กรุงเทพมหานคร และสาธารณสุข ยินดีที่จะไปให้คำแนะนำกับบุคคลที่เป็นผู้บริจาคเพื่อให้เกิดการปฏิบัติเป็นระบบอย่างถูกต้อง ลดการแพร่กระจายของเชื้อและลดอัตราความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้

ในตอนท้าย โฆษก ศบค. ฝากประเด็นข้อห่วงใยถึงประชาชนว่า ในสถานการณ์การติดเชื้อโควิด19 ทำให้เห็นภาพของพี่น้องคนไทยที่มีความห่วงใย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ทั้งวัด โรงทาน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่เกิดขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศไทย อีหนึ่งตัวอย่าง คือ “โครงการขนข้าวชาวนาเปลี่ยนปลาชาวเล” โดยกองทัพอากาศ นำเครื่องบินขนของเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ซึ่งทำให้ประเทศไทยแตกต่างจากชาติอื่น ๆ คือ ความรัก สามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันในสภาวะวิกฤต วิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ล้วนดีเสมอ ในกลุ่มของคนที่ผ่านความทุกข์ยาก ทุกข์ร้อน ทำให้ได้รับบทเรียนต่าง ๆ ที่จะนำมาเป็นพลัง บทเรียนสำคัญในการดำรงชีวิตเพื่อต่อสู้ไปข้างหน้า เรากลับไปแก้ไขสิ่งที่เป็นอดีตไม่ได้ เราได้แต่บอกตัวเองว่า “สิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนดีเสมอ” และจะก้าวผ่านมันไปได้ในอนาคต



ข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

error: Content is protected !!