ข่าวใหม่อัพเดท » จังหวัดพิษณุโลก จัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ครบรอบ 419 ปี

จังหวัดพิษณุโลก จัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ครบรอบ 419 ปี

27 เมษายน 2024
0

วันที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 08.29 น. ที่ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชวังจันทน์ นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานพิธีถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชน เข้าร่วมพิธีฯ ซึ่งวันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครบรอบ 419 ปี กองทัพภาคที่ 3 โดยพลตรีสมบัติ บุญกอแก้ว เป็นผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 3 นำหน่วยขึ้นตรงในพื้นที่ ร่วมรัฐพิธีกับจังหวัดพิษณุโลก ประกอบด้วยการวางพวงมาลาเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดี และรำลึกถึงพระมหากรุณา ธิคุณที่ทรงมีต่อผืนแผ่นดินและชนชาติไทย

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ และกล้าหาญ ทรงกอบกู้อิสรภาพของไทย และทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม พระผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ภายหลังที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำการศึกสงคราม และเอาชนะข้าศึกหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ ใน พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชาของพม่าได้ยกทัพมาตีไทย พระองค์ทรงชนช้างกระทำยุทธหัตถี และทรงฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ตั้งแต่นั้นมาพม่าก็เกรงกลัว เลิกยกทัพมารุกรานไทยอีก

พระบาทสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ (พระนเรศวรมหาราช) มีพระนามเดิมว่าพระองค์ดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์พระองค์เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลก ทรงมีพระเชษฐภคิณีคือพระสุพรรณกัลยา (องค์ทอง) ทรงมีพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ(องค์ขาว) และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับเช่น พระนเรศวรราชาธิราช พระนเรสส องค์ดำ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใดสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศวรราชาธิราช เป็นสมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ รวมพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา

ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทยพระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรปาซิฟิคทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ถึงแหลมมลายูทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทยใหญ่บางรัฐ พระองค์ได้ทำสงครามเข้าไปในประเทศที่เป็นข้าศึกของไทย ในทุกทิศทาง จนประเทศไทยอยู่เป็นปกติสุขปราศจากศึกสงคราม เป็นระยะเวลายาวนาน

พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งสิ้นทั้งปวงของพระองค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอดมิได้ว่างเว้น แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคต ก็เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทยนับว่าพระองค์ได้ทรงสละพระองค์ เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง สมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมา ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และจดจำวีรกรรมของพระองค์ เทอดทูลไว้เหนือเกล้า ฯ ไปตราบชั่วกาลนาน


นที มีเดช รายงาน

error: Content is protected !!