ข่าวใหม่อัพเดท » “Walailak Eye Bank” สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ จัดอบรมสร้างเครือข่าย เพื่อจัดตั้งธนาคารดวงตาเป็นแห่งแรกในภาคใต้

“Walailak Eye Bank” สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ จัดอบรมสร้างเครือข่าย เพื่อจัดตั้งธนาคารดวงตาเป็นแห่งแรกในภาคใต้

20 มกราคม 2024
0

“Walailak Eye Bank” สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ จัดอบรมสร้างเครือข่าย เพื่อจัดตั้งธนาคารดวงตาเป็นแห่งแรกในภาคใต้

เวลา 09.00 น. วันที่ 19 ม.ค.67 สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ร่วมกับศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพวลัยลักษณ์ และศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดเก็บดวงตาเพื่อการปลูกถ่ายอวัยวะ แก่พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อจัดตั้งธนาคารดวงตาวลัยลักษณ์ (Walailak Eye Bank) เป็นแห่งแรกในภาคใต้ โดยมีนายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นครศรีธรรมราช พร้อมด้วย อาจารย์นายแพทย์จักรกฤษณ์ จูห้อง อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และจักษุแพทย์ ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ร่วมในพิธีเปิด ณ โรงพยทบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

อาจารย์ นายแพทย์จักรกฤษณ์ จูห้อง อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และจักษุแพทย์ ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคกระจกตาจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพื่อแก้ไขการมองเห็นให้ดีขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะกระจกตาบวม กระจกตาเสื่อม กระจกตาขุ่นจากโรคทางพันธุกรรม แผลเป็นกระจกตา หรือโรคกระจกตาโป่งขั้นรุนแรง แต่ปัญหาคือปัจจุบันประเทศ ไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนกระจกตาสำหรับผ่าตัดอย่างวิกฤติ ระยะเวลานับตั้งแต่เข้ารับการจองคิวไปจนถึงได้ทำการผ่าตัดยาวนาน เฉลี่ย 3-5 ปี ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอคอยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาบางส่วนถึงกลับสูญเสียดวงตาหรือบอดสนิทจากภาวะแทรกซ้อนไปก่อนที่จะได้รับการผ่าตัด

ศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพวลัยลักษณ์ จึงได้จัดตั้ง “ธนาคารดวงตาวลัยลักษณ์” หรือ “Walailak Eye Bank” ขึ้น โดยการประสานงานกับศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย ในการรับบริจาคดวงตา จัดหาและบริการดวงตา โดยการเจรจาเชิงรุกและจัดเก็บดวงตาจากผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล ที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นศูนย์กลางในการค้นหา จัดเก็บ และส่งมอบดวงตาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตให้แก่จักษุแพทย์ได้นำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยกระจกตาพิการ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนกระจกตา และพัฒนาเป็นระบบที่ยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม และยุติธรรม”

กระจกตาเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษมาก คือการเปลี่ยนกระจกตาไม่จำเป็นต้องมีการตรวจความเข้ากันของเนื้อเยื่อเหมือนการเปลี่ยนอวัยวะอื่นเช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด และยังมีอัตราความสำเร็จของการปลูกถ่ายอวัยวะสูงมาก โดยไม่จำเป็นต้องกินยากดภูมิเพื่อลดการต้านอวัยวะที่ได้รับ นอกจากนี้ดวงตาหนึ่งดวงอาจสามารถทำผ่าตัดให้ผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งคนได้ ขึ้นกับชั้นของกระจกตาที่ต้องการปลูกถ่าย ทั้งนี้ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อได้รับการผ่าตัดวิธีที่เหมาะกับภาวะของโรคนั้น ๆ โครงการฯ ขอขอบคุณ ศูนย์ดวงตาสภากาชาด ไทย เป็นอย่างมาก ที่เป็นผู้สนับสนุน ให้ความรู้ และคำปรึกษา จนก่อให้เกิดความสำเร็จในครั้งนี้” อาจารย์ นายแพทย์จักรกฤษณ์กล่าว

ธนาคารดวงตาวลัยลักษณ์เป็นการพัฒนาต่อยอดของโครงการบริการวิชาการศูนย์เนื้อเยื่อวลัยลักษณ์ โดย ผศ.นพ.ลั่นหล้า อุดมเวช หัวหน้าโครงการฯ และ ผศ.ดร.เอื้อมพร หมวดเมือง, อ.พญ.วรารี ศรียุทธไกร, และ นพ.สุวิทย์ คงบันดาลสุข เป็นแกนนำในการจัดตั้งศูนย์ฯ ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลิตเยื่อหุ้มรกทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการผ่าตัดทางจักษุวิทยา ได้การตอบรับอย่างดีโดยมีผู้รับบริการจากทุกภูมิภาคของประเทศ โดยนอกจากภารกิจในการจัดเก็บดวงตา และผลิตเยื่อหุ้มรกทางการแพทย์แล้ว ยังมีโครงการในการให้บริการเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้แก่ การผลิตชิ้นกระดูกแช่แข็ง กระดูกแห้ง และเส้นเอ็น ซึ่งในแต่ละปีมีการผ่าตัดด้วยเนื้อเยื่อเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และยังมีการขาดแคลนเนื้อเยื่อดังกล่าว

ผู้สนใจบริจาคดวงตา หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อผู้ประสานงานศูนย์ดวงตาวลัยลักษณ์


ธีรศักดิ์ อักษรกูล

error: Content is protected !!