ข่าวใหม่อัพเดท » วช. คว้ารางวัลเลิศรัฐ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2566 “ศูนย์วิจัยชุมชนโดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค” จาก ก.พ.ร.

วช. คว้ารางวัลเลิศรัฐ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2566 “ศูนย์วิจัยชุมชนโดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค” จาก ก.พ.ร.

9 กันยายน 2023
0

วช. คว้ารางวัลเลิศรัฐ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2566 “ศูนย์วิจัยชุมชนโดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค” จาก ก.พ.ร.

วันที่ 7 กันยายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 “รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี” ผลงาน “ศูนย์วิจัยชุมชนโดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค” กองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม จากการพิจารณาของ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้รับเกียรติจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล ซึ่ง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (รอง ผอ.วช.) พร้อมด้วย คณะผู้บริหารจาก (วช.) เข้าร่วมรับรางวัล ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี

รางวัลเลิศรัฐ หรือ Public Sector Excellence Awards (PSEA) เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่ ก.พ.ร. มอบให้แก่หน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ มีความเป็นเลิศโดยการยกย่องและเชิดชูเกียรติ ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยในปี 2566 มีมติมอบรางวัลให้หน่วยงานต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 238 รางวัล

นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (รอง ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนสนับสนุนและขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ในการพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยแผนภายใต้กรอบการวิจัย (วช.) ได้มีส่วนช่วยในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของประเทศทั้งด้านการแพทย์ เกษตร สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ตามความเร่งด่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ (วช.) ได้ร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนากำลังคน และสนับสนุนส่งนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ตามวิสัยทัศน์และภารกิจ โดยเราจะมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนากำลังคนรวมทั้งส่งเสริมการวิจัยอย่างมีทิศทางเพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงฐานข้อมูลการวิจัย จากทุกภาคส่วนสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรม


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!