ข่าวใหม่อัพเดท » ลำพูน ติดตามการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง ลำพูน

ลำพูน ติดตามการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง ลำพูน

31 สิงหาคม 2023
0

ลำพูน – ติดตามการขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง และรับฟังความพร้อมการตรวจประเมินเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของพื้นที่เป้าหมาย

วันนี้(29 สิงหาคม 2566) ที่ห้องประชุมฝ้ายคำ เทศบาลตำบลบ้านกลาง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้ นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดลำพูน พื้นที่ตำบลบ้านกลาง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน โดยที่ประชุมรับทราบถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 และได้นำเข้าสู่ที่ประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 และที่ประชุมเห็นชอบแล้ว นอกจากนั้น ยังรับทราบถึงผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 ได้แก่ กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแผนปฏิบัติการ สำหรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แนวทางสู่การพิจารณาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และกิจกรรมบูรณาการข้อมูลสาธารณูปโภค สาธารณูปการและสัดส่วนพื้นที่สีเขียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่น ซึ่งได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ทางเทศบาลตำบลบ้านกลางซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายยังได้รายงานความพร้อมในการขับเคลื่อนเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดลำพูน ครอบคลุมความพร้อมหลายด้านที่สอดรับกับยุทธศาสตร์จังหวัดเด่นๆ คือ การพัฒนาคลองแม่ยาก ซึ่งเป็นคลองชัยมงคลของตำบลบ้านกลางหากพัฒนาสำเร็จเสร็จสิ้นจะมีลักษณะเหมือนคลองแม่ข่าที่สะพานระแกง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดลำพูน

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังรับทราบผลการระดมความคิดเห็นจัดทำ(ร่าง) โครงการที่สอดคล้องกับเกณฑ์ข้อกำหนดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ.2565 กับยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศพื้นที่เป้าหมายตำบลบ้านกลาง 5 โครงการ ประกอบด้วย

  1. โครงการพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การจัดทำผังเมืองที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
  2. โครงการบริหารจัดการระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในชุมชนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การปรับปรุงโครงสร้างพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
  3. โครงการศูนย์บริหารขยะครบวงจรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การยกระดับการจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในพื้นที่
  4. โครงการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนและอุตสาหกรรมในพื้นที่ และ
  5. โครงการตำบลบ้านกลาง เสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต

อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้มีการพิจารณาถึงการเตรียมความพร้อมเข้ารับการตรวจประเมินเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตามข้อกำหนดพื้นฐาน 12 ข้อ และมีให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูล เช่น ข้อ 2 เกณฑ์กำหนด : เมืองต้องมีฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมและจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อพื้นที่ ข้อเสนอแนะ : แยกข้อมูลโรงงานในพื้นที่ให้ละเอียดชัดเจน รวมทั้งจัดกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อพื้นที่/รายงานแหล่งกำเนิดมลพิษซึ่งเรื่องนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ในฐานะประธานในการประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ให้ทางคณะอนุกรรมการทำเรื่องขอข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบให้สมบูรณ์ซึ่งข้อเสนอแนะส่วนใหญ่เรามีส่วนราชการ/เอกชนในพื้นที่ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว เพื่อให้การดำเนินงานลุล่วงเป็นผลสำเร็จ


นที มีเดช

error: Content is protected !!