ข่าวใหม่อัพเดท » วช. ใช้เวที “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” เปิดแผนกำลังคนด้าน ววน. สู่การขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

วช. ใช้เวที “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” เปิดแผนกำลังคนด้าน ววน. สู่การขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

9 สิงหาคม 2023
0

วช. ใช้เวที “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” เปิดแผนกำลังคนด้าน ววน. สู่การขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 หรือ Thailand Research Expo 2023 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ถือเป็นเวทีรวบรวมวงการนักวิจัยและนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

เพื่อสร้างความตระหนักและรับรู้ในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 จึงได้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “แผนกำลังคน ววน. สู่การขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย มี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย คุณสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ (สกสว.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สกสว. ได้จัดทำแผน (ววน.) 5 ปี เพื่อเป็นกติกาใหม่ในการพัฒนาให้สอดคล้องกับทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยในแผนด้านการพัฒนาบุคลากร (วช.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับ (สกสว.) ในการสร้างบุคลากรด้านงานวิจัยให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพเพียงพอที่จะพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ การเตรียมบัณทิต การสร้างงาน การใช้ประโยชน์ และการสร้างระบบนิเวศ แต่โดยภาพรวมของเส้นทางสู่อาชีพยังมีปัญหาหลายเรื่อง อาทิ การขาดแคลนนักวิจัยมืออาชีพในมหา วิทยาลัย ความต้องการบุคคลากรที่มี Talent สูง แต่ไม่สามารถรักษาคนเก่งให้ทำงานในภาครัฐได้ ซึ่ง (สกสว.) พยายามปิดช่องว่างโดยการให้ทุนวิจัยในรูปแบบใหม่ ได้แก่ ทุน FF เพื่อรักษานักวิจัยภาครัฐไว้ ขณะที่มีตัวเลขเกี่ยวกับการลงทุนพัฒนาคนของไทย ควรจะทำมากน้อยเพียงใด ตัวเลขของนักวิชาการชั้นแนวหน้าในระบบสถาบันอุดมศึกษาของเราอยู่ที่ 74,000 คน เป็นนักวิจัยชั้นแนวหน้าเพียง 1,500 คน ตามเป้าหมายเราอยากได้กำลังคนระดับสูงปีละ 10,000 คน แต่งบประมาณจาก (ววน.) ที่ได้รับขณะนี้ เรามีกำลังคนได้เพียงปีละ 2,600 คน และในความจริงทำได้เพียง 1,200 คน ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ได้ติด ตามจากการฉายภาพของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเห็นตัวเลขของการใช้งบวิจัยของประเทศที่ขยับเป้าไปสู่ความจริงมากขึ้นตั้งแต่มีการปฏิรูประบบ (ววน.) ของประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 เราเห็นเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น จึงต้องขอขอบคุณหน่วยงานด้าน (ววน.) ที่ได้ร่วมมือกัน ในส่วนของ (วช.) ยังมองไปถึงภาพรวมในระยะไกลมีการไล่ระดับต่อไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากการวางแผนและกำหนดเป้าหมาย (วช.) ยังได้ดำเนินการด้านพัฒนาบุคลากรอีกหลายรูปแบบ ทั้งการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยให้มีคุณธรรม จริยธรรม และมาตรฐานและส่งเสริมผู้มีศักยภาพสูงให้เข้าสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร การให้ทุนสนับสนุนแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นใหญ่,การมอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัย หรือการจัดงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ก็เป็นตัวอย่างงานวิจัยของนักวิจัยรุ่นเยาว์ที่เข้ามาแสดงผลงานที่ทำให้เห็นความสำเร็จ มีเวทีที่สามารถสร้างโอกาสให้เติบโตต่อไป นอกจากนี้ ในปี 2566 (วช.) ยังได้ริเริ่มสนับสนุนให้ทุนแก่ Hub of Talent ในการขับเคลื่อนให้เกิดการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ (บพค.) กล่าวว่า คนเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ (บพค.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคนสมรรถนะสูง และเปิดโอกาสให้เกิดอาชีพใหม่ๆ สร้างทั้งคนและระบบนิเวศที่มีความเหมาะสมโดยมีเป้าหมายผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง 28 คนต่อ 10,000 คน และในปีหน้า 30 คน โดยเมื่อถึงปี 2570 เป้าหมายจะอยู่ที่ 40 คน

ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวจากเดิมที่ยังคิดในเชิงวิชาการ ทำบัญชีไม่เป็น บริหารไม่เป็น ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย วงจรในระดับมหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษาคนเก่งและดึงคนเก่งให้อยู่ได้ เราไม่ต้องการ paper จำนวนมาก แต่ทำอย่างไรจะเป็นผลงานดัง ส่วนตัวอยากเห็นทิศทางที่ชัดเจนของมหาวิทยาลัย ไม่อยากเห็นมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนทุ่งทานตะวันที่บานในระยะสั้นๆแล้วก็แห้งตาย แต่ควรเป็นป่าอะเมซอนที่มีอายุเป็นร้อยปี การวางแผนในการพัฒนากำลังคน ควรวางให้เป็นเหมือนป่าอะเมซอน

โดยปัจจัยสำคัญที่จะทําให้มหาวิทยาลัยประสบความสําเร็จในการสร้างนักวิจัย ทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย

  1. ความสามารถของนักวิจัย
  2. การสนับสนุนของหน่วยงานและทีมงาน (Supporting Teams)
  3. การสนับสนุนขององค์กรระดับชาติ และ
  4. การให้คําแนะนําจากที่ปรึกษาที่ดี (Mentorship) ผ่านการมี Mentor ซึ่งจะทําให้งานวิจัยมีความราบรื่นและมีความก้าวกระโดด นําไปสู่เป้าหมายความสําเร็จของนักวิจัยได้อย่างมี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

(วช.) พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมในงาน มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2566 และภาคภูมิใจที่รวมพลังแห่งความร่วมมือในการขับเคลื่อนกำลังคน (ววน.) รองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!