ข่าวใหม่อัพเดท » ศาลจังหวัดลำพูน จับมือร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบงานยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้การจับกุมมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ศาลจังหวัดลำพูน จับมือร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบงานยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้การจับกุมมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

4 สิงหาคม 2022
0

ศาลจังหวัดลำพูน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลำพูน อัยการจังหวัดลำพูนและตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบงานยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้การจับกุมมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ ห้องประชุมมหันตยศ (ห้องประชุมผู้บริหาร) ศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน ศาลจังหวัดลำพูน, ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลำพูน, อัยการจังหวัดลำพูนและตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน  ร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบงานยุติธรรมทางอาญา ว่าด้วยการส่งบันทึกภาพและเสียงการจับกุม ตรวจค้น จำเลยในคดียาเสพติดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยมี นายภัทรพล เอกทันต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดลำพูน, นางสมปรารถนา แสงสุริยะฉัตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลำพูน, นายภาณุ ขวัญยืน อัยการจังหวัดลำพูน, พล.ต.ต.มงคล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน  มี นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน, นายนภดล ศรีทาเกิด ยุติธรรมจังหวัดลำพูน ร่วมเป็นสักขีพยาน, มีนายชาตรี กิตติธนดิตถ์ ปลัดจังหวัดลำพูน, นายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดลำพูน  เจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลำพูน  เจ้าหน้าที่อัยการจังหวัดลำพูน เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดลำพูนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี

กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เริ่มต้นตั้งแต่การสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดในส่วนคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับถือเป็นพยานสำคัญในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ขั้นตอนการจับกุมจึงต้องกระทำโดยโปร่งใสจึงจะสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้มีน้ำหนักในการรับฟังยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย จากการดำเนินการที่ผ่านมามีหลายคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธและอ้างว่าการจับกุมดำเนินไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ ส่วนฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมก็อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต แต่แล้วก็ไม่มีพยานยืนยันเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของทั้งสองฝ่าย

ศาลเป็นองค์กรที่มีภารกิจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการพิจารณาพิพากษาคดี  ซึ่งต้องรับฟังพยานหลักฐานตามที่พนักงานอัยการนำเสนอ ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถบันทึกภาพและเสียง สามารถอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ ซึ่งจะถือเป็นมิติใหม่ในการยกระดับมาตรฐานการรับฟังพยานหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือที่สูงขึ้น ประกอบกับข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2565 มุ่งเน้นให้การออกหมายขังในคดีอาญาจะต้องเสนอพยานหลักฐานที่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุสมควรในการออกหมายขัง เนื่องจากหมายขังส่งผลกระทบต่อผู้ต้องหาไม่ต่างจากหมายจำคุกในคดีอาญา โดยพยานหลักฐานดังกล่าวได้รวมถึงข้อมูลที่ได้จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือโปรแกรมสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ภาพจากกล้องวงจรปิดหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ประกอบกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 178/2564  กำหนดให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้ต้องหาในที่รโหฐานหรือในที่สาธารณะสถานหรือผู้ตรวจค้น ต้องทำบันทึกภาพและเสียงไว้ด้วย ซึ่งบันทึกภาพและเสียงดังกล่าว สามารถนำมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยในชั้นพิจารณาของศาล แต่เนื่องจากพยานผู้จับกุมกว่าจะเบิกความต่อศาลต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง การเบิกความดังกล่าวต้องอาศัยความทรงจำ ทำให้มีปัญหาเกิดการหลงลืมเหตุการณ์การจับกุมหรือปัญหาการติดตามพยานที่อาจเกษียณอายุราชการหรือย้ายไปที่อื่น ดังนั้น หากมีการบันทึกภาพและเสียงการจับกุมไว้ผู้จับกุมสามารถทบทวนความทรงจำได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงานตำรวจได้อีกด้วย อันเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และยังเป็นการคุ้มครองความสุจริตของทั้งฝ่ายผู้จับกุมและผู้ต้องหา การนำบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมประกอบหลักฐานในการขอออกหมายขังจึงเป็นสิ่งจำเป็น ศาลจังหวัดลำพูน ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลำพูน อัยการจังหวัดลำพูน และตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน จึงทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันที่จะนำบันทึกภาพและเสียงมาประกอบหลักฐาน ตั้งแต่ชั้นยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งแรกและในชั้นพิจารณาต่อไป  


ผู้สื่อข่าวจังหวัดลำพูน รายงาน

error: Content is protected !!