ข่าวใหม่อัพเดท » พาณิชย์ลงพื้นที่นครพนม เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน เพิ่มมูลค่าส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศ

พาณิชย์ลงพื้นที่นครพนม เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน เพิ่มมูลค่าส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศ

1 เมษายน 2022
0

พาณิชย์ลงพื้นที่นครพนม เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน เพิ่มมูลค่าส่งออก สร้างรายได้เข้าประเทศ

วันที่ 1 เมษายน 2565 เวลา 15.30 น. ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานเปิดงานโครงการส่งเสริมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน มหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดนครพนม ที่จัดขึ้นที่จังหวัดนครพนม ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยกำหนดให้จังหวัดนครพนม เป็นหนึ่งในจังหวัดภายใต้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และจังหวัดนครพนม ถือว่าเป็นจังหวัดชายแดนที่สำคัญ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สามารถสร้างมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนจากการส่งออกสินค้าไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ ผ่านด่านการค้าสำคัญ คือ จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) เนื่องจากเป็นด่านส่งออกผลไม้ที่สำคัญของไทย โดยมีมูลค่าการค้ารวมในปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) มากกว่า 1 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับสองรองจากจังหวัดมุกดาหาร และในปี 2565 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท
​​

ดร. สรรเสริญฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์โดยการนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการเร่งรัดผลักดันและส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน ได้แก่

  1. การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ และจังหวัดชายแดน เพื่อผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนสินค้าภายใต้มาตรการป้องกัน โควิด – 19
  2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้โครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ
  3. การลงพื้นที่จัดงาน “มหกรรมการค้าชายแดน” ในจังหวัดชายแดนไทย 8 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน, จ.สงขลา, จ.มุกดาหาร, จ.สระแก้ว, จ.ยะลา(อ.เบตง), จ.เชียง ราย, จ.จันทบุรี, และ จ.นครพนม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าและการลง ทุนบริเวณชายแดน

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักของกระทรวงพาณิชย์ในการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน จัดงานมหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดนครพนม เป็น 1 ใน 8 กิจกรรม ภายใต้แผนการจัดงานมหกรรมการค้าชายแดน ปี 2565 ของกรมการค้าต่างประเทศ โดยการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการ บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพันธมิตร 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์จำนวน 6 หน่วยงาน คือ (1) กรมการค้าต่างประเทศ, (2) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, (3) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, (4) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, (5) กรมทรัพย์สินทางปัญญา, และ (6) กรมการค้าภายใน

และหน่วยงานภายนอกกระทรวงพาณิชย์จำนวน 6 หน่วยงาน คือ (1) สำนักงานคณะกรรม การส่งเสริมการลงทุน, (2) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, (3) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, (4) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, (5) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, และ (6) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

​​สำหรับกิจกรรมหลักภายในงานจะประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ (1) การแสดงแลจำหน่ายสินค้าส่งออกชั้นนำมากกว่า 100 รายการ อาทิ สินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าชุมชนที่มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด เช่น ผ้าไทยพื้นเมืองและเครื่องสำอางสมุนไพรจากนครพนม เครื่อง ปั้นดินเผาจากขอนแก่น เส้นขนมจีนแห้งจากร้อยเอ็ด และข้าวฮางหอมทองสกลทวาปีจากสกลนคร เป็นต้น, (2) การเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการการค้าชายแดนกับผู้นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน, (3) การอบรม/สัมมนา “การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)” และ (4) การประชุมเตรียมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ. พาณิชย์) เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการค้าชายแดน
​​

นายพิทักษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอเชิญชวนประชาชนจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง เข้าเยี่ยมชมงานแสดงและจำหน่ายสินค้าที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งมีสินค้าหลากหลายให้จับจ่ายใช้สอย และเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดนของไทย


เทพข่าวร้อน หลาวเหล็ก สำนักข่าวความมั่นคง รายงาน

error: Content is protected !!