ข่าวใหม่อัพเดท » “ชำนาญ” ร้อง “เมทินี” เหตุ “กต.บางคน” ผิดวินัยใช้ไลน์ล็อบบี้หาเสียง “กต.ผู้ทรงคุณวุฒิ”

“ชำนาญ” ร้อง “เมทินี” เหตุ “กต.บางคน” ผิดวินัยใช้ไลน์ล็อบบี้หาเสียง “กต.ผู้ทรงคุณวุฒิ”

6 มิถุนายน 2021
0

“ชำนาญ” ร้อง “เมทินี” เหตุ “กต.บางคน” ผิดวินัยใช้ไลน์ล็อบบี้หาเสียง “กต.ผู้ทรงคุณวุฒิ”

แหล่งข่าวจากศาลยุติธรรมแจ้งว่า นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนาญการพิเศษ และอดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ได้ทำหนังสือถึงนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เรื่อง “ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฎหมาย กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ข้าราชการตุลาการกระทำผิดวินัย กรณีหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ” ตามมาตรา 36 (3) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 และยังแนบสำเนาภาพถ่ายหน้าจอแอพลิเคชั่นไลน์มาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริง

ใจความหลักของหนังสือร้องเรียนดังกล่าวระบุว่า ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีประกาศรับสมัครบุคคลเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ลงวันที่ 23 ธ.ค.63 โดยกำหนดระยะเวลาการรับสมัครระหว่างวันที่ 25 ธ.ค.63 ถึงวันที่ 8 ม.ค.64 ซึ่งมีผู้สมัครและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติสี่คน คือหมายเลข 1 นายวรสิทธิ์ โรจนพานิช,หมายเลข 2 นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา,หมายเลข 3 นายไผทชิต เอกจริยกร และหมายเลข 4 นายจำนง เฉลิมฉัตร โดยได้รับการคัดเลือกสองคนคือนายไผทชิตฯ และ นายจำนงฯ

เอกสารร้องเรียนของนายชำนาญฯ ระบุว่า พ.ร.บ.ระเบียบฯ มาตรา 17 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ให้ถือว่าการกระทำใดๆ อันมีลักษณะเป็นการหาเสี่ยง เพื่อให้ข้าราชการตุลาการ ลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการใดๆ เป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ” อันมีผลกระทบต่อการพิจารณาโยกย้ายแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง และวินัยของข้าราชการตุลาการ ตามมาตรา 17 และมาตรา 62 โดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ในการประชุม (ก.ต.) ครั้งที่ 2/2557 วันที่ 20 ม.ค.57 ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การห้ามหาเสียงเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ตามมาตรา 19 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯ ซึ่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือเวียน ที่ ศย 003/ว 14 (ป) ลงวันที่ 11 ก.พ.57 ให้ทราบแล้ว

เอกสารร้องเรียนของนายชำนาญฯ ระบุว่า ต่อมาในการประชุม (ก.ต.) ครั้งที่ 24/2557 เมื่อวันที่ 29 ก.ย.57 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้มีมติเห็นชอบให้นำหลักเกณฑ์การห้ามหาเสียงกรรมการหรืออนุกรรมการใดๆ ตามพ.ร.บ.ระเบียบฯ มาตรา 19 วรรคสี่ ตามหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ ศย 003/ว 14(ป) ลงวันที่ 11 ก.พ.57 ออกเป็นประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่องแนวทางพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมในการหาเสียง ลงวันที่ 3 ต.ค.57 ซึ่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือเวียน ที่ ศย 203/ว 45 (ป) ลงวันที่ 9 ต.ค.57 ให้ทราบแล้ว โดยประกาศฉบับนี้ กำหนดให้ในการดำเนินการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานศาลยุติธรรมเท่านั้นที่เป็นหน่วยงานกลางในการแนะนำตัว มีหน้าที่เผยแพร่ประวัติการรับราชการ ผลงาน และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้มีสิทธิรับเลือกที่มีความประสงค์ให้เผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้มีสิทธิอย่างเสมอภาค รวดเร็ว และเป็นธรรม

“ทั้งนี้ตามข้อ 3 ของประกาศดังกล่าว ดังนั้น การกระทำใดๆ ของข้าราชการตุลาการอันมีสักษณะเป็นการหาเสียงตามประกาศนี้ เพื่อให้ข้าราชการตุลาการอื่นลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการใดๆ จึงเป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ และเป็นการกระทำผิดวินัยข้าราชการตุลาการ ตามพ.ร.บ.ระเบียบฯ มาตรา 17 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 62” เอกสารร้องเรียนของนายชำนาญฯ ระบุ

เอกสารร้องเรียนของนายชำนาญฯ ระบุว่า นอกจากนี้ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2561 ข้อ 29 อันเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการเลือก (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้ ยังได้เน้นย้ำหลักการห้ามหาเสียงไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามผู้สมัครกระทำการใดๆ หรืออาศัยผู้ใดกระทำการอันมีลักษณะเป็นการหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์การห้ามหาเสียงเลือกกรรมการหรืออนุกรรมการใดๆ ตามมาตรา 17 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมีความหมายว่า การเลือก (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนี้ ไม่อาจมีการหาเสียงเพื่อให้ลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนใดๆ ให้แก่ผู้มีสิทธิรับเลือกได้”

เอกสารร้องเรียนของนายชำนาญฯ ระบุว่า “แต่ปรากฏว่า มีข้าราชการตุลาการบางคนกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวโดยการโพสต์ข้อความลงในแอพลิเศชั่นไลน์กลุ่มต่างๆ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำใดๆ อันมีลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้ใดลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหมายเลข 3 และผู้สมัครหมายเลข 4 และงดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหมายเลข 1 และหมายเลข 2” ซึ่งเป็นการกระทำที่ผ่าฝืนประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่องแนวทางพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมในการหาเสียง หลักเกณฑ์ห้ามหาเสียงเลือก (ก.ต.) และ (ก.บ.ศ.) และพ.ร.บ.ระเบียบฯ มาตรา17 วรรคสี่ ดังนี้

รายที่ 1 ผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ไลน์ว่า “J29 Anuruk” ในไลน์กลุ่มชื่อ “สภาตุลาการ” จำนวนห้าครั้งคือครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ก.พ.64,ครั้งที่ 2 วันที่ 9 ก.พ.64,ครั้งที่ 3 วันที่ 16 ก.พ.64,ครั้งที่ 4 วันที่ 9 มี.ค.64,ครั้งที่ 5 วันที่ 17 มี.ค.64 และวันที่ 31 มี.ค.64

รายที่ 2 ผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ไลน์ว่า “S.tany” ในไลน์กลุ่ม “ศาลฎีกา” จำนวนสามครั้งคือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ม.ค.64,ครั้งที่ 2 วันที่ 6 ก.พ.64 และ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.64,ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 มี.ค.64

รายที่ 3 ผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ไลน์ว่า “rlek” ในไลน์กลุ่มชื่อ “Legal mind” จำนวนห้าครั้งคือ ครั้งที่1 วันที่ 9 ม.ค.64,ครั้งที่ 2 วันที่ 16 ม.ค.64,ครั้งที่ 3 วันที่ 16 ก.พ.64,ครั้งที่ 4 วันที่ 16 ก.พ.64,ครั้งที่ 5 วันที่ 9 มี.ค.64

เอกสารร้องเรียนของนายชำนาญฯ ระบุว่า การกระทำของผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ทั้ง 3 ราย ทั้งที่รู้ว่า พ.ร.บ.ระเบียบฯ มาตรา 17 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ให้ถือว่าการกระทำใดๆ อันมีลักษณะเป็นการหาเสียง เพื่อให้ข้าราชการตุลาการ ลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการใดๆ เป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ ซึ่ง (ก.ต.) มีมติเห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์การห้ามหาเสียงเลือกกรรมการหรืออนุกรรมการใดๆ ตามพ.ร.บ.ระเบียบฯ ทั้งยังออกประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่อง แนวทางพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมในการหาเสียงลงวันที่ 3 ต.ค.57 ใช้บังคับแล้ว ดังนั้นหลักเกณฑ์ และระเบียบดังกล่าวจึงเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจริยธรรมของข้าราชการตุลาการตามที่ (ก.ต.) กำหนด ซึ่งมาตรา 62 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯบัญญัติให้ข้าราชการตุลาการต้องยึดถือและปฏิบัติตาม การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามย่อมเป็นการกระทำความผิดวินัย

เอกสารร้องเรียนของนายชำนาญณ ระบุว่า “เมื่อกฎหมายและประกาศห้ามข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมกระทำการใดอันเป็นการหาเสียงต่อข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมอื่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและบริสุทธิ์ โปร่งใส ในการเลือกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย และลงโทษทางวินัยของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 36 (3) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ย่อมไม่มีโอกาสโต้แย้งแสดงเหตุผลในกรณีที่มีการให้ข้อมูลที่เป็นผลเสียหายแก่ตน หากยอมให้ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมคนใดคนหนึ่งหาเสียงให้แก่ผู้มีสิทธิรับเลือกคนใดได้ ย่อมเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้สมัครอื่นที่ไม่มีข้าราชการตุลาการสนับสนุน พ.ร.บ.ระเบียบฯมาตรา 19 วรรคสี่ จึงบัญญัติไม่ให้มีการหาเสียง โดยให้ถือว่าการกระทำใดๆ อันมีลักษณะเป็นการหาเสียง เป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ และโดยที่มาตรา 68 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯบัญญัติว่า “เมื่อข้าราชการตุลาการในศาลใดถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย ให้ข้าราชการตุลาการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในงานของศาลยุติธรรมนั้นดำเนินการให้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงขั้นต้นโดยไม่ชักช้า”

“จึงขอให้ท่านประธานศาลฎีกาดำเนินการตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด”

ทั้งนี้มีรายงานจากเเหล่งข่าวว่า ตอนนี้ (กต.) หลายท่านอยากทราบความคืบหน้าคำร้องของนายชำนาญฯ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรเพื่อที่จะเป็นบรรทัดฐานการบริหารงานภายในองค์กรที่ไม่มีการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติเเละข้อกฎหมาย


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!