วิชาชีวิตและความตาย
อ.ณัฐพงษ์ นาคถ้ำ
มนุษย์เกิดมาพร้อมกับการมีชีวิต เมื่อมีชีวิตแล้วสิ่งที่หนีไม่พ้นก็คือความตาย การเตรียมตัวเพื่อความตายก็เป็นสิ่งจำเป็น
วันก่อนข้าพเจ้าได้มีโอกาสพูดคุยกับนิสิตหญิงท่านหนึ่ง ชื่อ วราพร อรรถสุข ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท สาขาวิชาชีวิตและความตาย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ต. ลำไทร อ. วังน้อย จ. พระนครศรีอยุธยา ถามเธอว่า สาขาวิชานี้มีด้วยเหรอ ชื่อสาขาวิชานี้น่ากลัวจัง เรียนไปเพื่ออะไร แล้วสิ่งที่เรียนไปมันคุ้มค่าไหม เธอได้อธิบายข้อสงสัยของข้าพเจ้าว่า สาขาวิชานี้มีจริงและได้เปิดเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาโท เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ชื่อสาขาวิชานี้ดูเหมือนจะดูน่ากลัว เพราะมีคำว่าความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อได้เข้าศึกษาแล้ว จะพบว่า เราจะได้ศึกษากฎเกณฑ์ของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และควรจะดำรงตนอย่างไรอย่างมีคุณค่าในขณะที่มีชีวิตอยู่ และจากไปอย่างไรให้สมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ นอกจากนั้น ผู้ที่เรียนสาขาวิชานี้ยังสามารถนำเอาความรู้ไปแนะนำช่วยเหลือเพื่อมนุษย์ด้วยกันได้ การศึกษาสาขาวิชานี้ไม่ได้คุ้มค่าในแง่ของทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือความร่ำรวย แต่มันคุ้มค่าในแง่ความสงบสุขของจิตใจและคุณค่าทางสังคม เพราะเมื่อเรียนรู้แล้วทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์ด้วยกันมากยิ่งขึ้น เธอยังได้บอกว่า ผู้ที่เรียนจบสาขาวิชานี้ยังเป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย เช่น ศาล โดยไปเป็นผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งสามารถอธิบายความเป็นจริงของชีวิตมากกว่าที่จะมาดำเนินคดีทางด้านกฎหมายระหว่างคู่กรณี อันเป็นลักษณะประนีประนอมยอมความ หรือโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยไปเป็นนักจิตวิทยาพูดคุยกับผู้ป่วย เพื่อให้คลายความเครียดและความกังวลจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยใช้หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวถึงความดีงามของชีวิตเป็นแนวทางในการพูดคุย ปัจจุบันนี้ พระครูสังฆรักษ์เอกภัทร อภิฉนฺโท, ผศ.ดร., เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร เปิดการเรียนการสอนมาแล้ว ๑๑ รุ่น นิสิตที่เข้ามาสมัครเรียน ได้แก่ พระสงฆ์ แม่ชี หมอ พยาบาล ข้าราชการ นักกฎหมาย นักการเมือง ศิลปิน นักร้อง นักแสดง และประชาชนทั่วไป มีนิสิตที่เรียนจบไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ รูป/คน
เมื่อข้าพเจ้าฟังเธออธิบายจบลง ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจในเรื่องชีวิตและความตายมากยิ่งขึ้น และก็หวังว่าวิชานี้จะเป็นวิชาที่อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อเปิดโอกาสผู้เข้ารับการศึกษาจะได้รู้ความเป็นจริงของชีวิต และสามารถนำเอาวิชาความรู้ไปช่วยเหลือสังคมได้ โดยยึดหลักที่ว่า “เรียนรู้ชีวิตเพื่อดำรงอย่างมีคุณค่า และจากไปอย่างสมศักดิ์ศรี”