ข่าวใหม่อัพเดท » ครั้งแรก สวทช.–วช. ผนึกกำลังเปิด 2 เวทีประลองเยาวชนเก่งโครงงานวิทย์-เขียนโปรแกรม

ครั้งแรก สวทช.–วช. ผนึกกำลังเปิด 2 เวทีประลองเยาวชนเก่งโครงงานวิทย์-เขียนโปรแกรม

11 มีนาคม 2021
0

ครั้งแรก สวทช.–วช. ผนึกกำลังเปิด 2 เวทีประลองเยาวชนเก่งโครงงานวิทย์-เขียนโปรแกรม

วันที่ 11 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น. ณ โถงอาคาร สวทช. (โยธี) ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯ : เป็นครั้งแรกของสองหน่วยงานสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผนึกกำลัง เปิด 2 เวทีประลองความสามารถเยาวชนในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และการเขียนโปรแกรม พร้อมชู 2 อดีตเยาวชนที่เคยผ่านการแข่งขันทั้งสองเวที ซึ่งเติบโตเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่และโปรแกรมเมอร์ดาวรุ่ง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการเปิดเวที “การประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันครั้งแรกของทั้งสองหน่วยงาน ที่ร่วมเปิดเวทีการประกวดเยาวชนคนเก่ง

สำหรับการประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประกอบด้วยโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition : YSC) และโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศ ไทย (The National Software Contest : NSC) ซึ่งทั้งสองโครงการมีการแข่งขันในรอบตัดสินเมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2564 และจะประกาศผลรางวัลในวันที่ 19 มีนาคม 2564

โครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ หรือ YSC เป็นโครงการเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาให้มีโอกาสแสดงความสามารถและทักษะที่เป็นนวัตกรรม และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ และคัดเลือกผู้ชิงชนะเลิศและคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยสำหรับเข้าประกวดในงาน Intel International Science and Engineering Fair : Intel ISEF ที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Regeneron ISEF เมื่อปี พ.ศ.2563 ซึ่งการประกวดดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2493 โดย Society for Science & the Public

ส่วนโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย หรือ NSC จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟท์แวร์สำหรับเยาวชนทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาทักษะ ความคิดริเริ่มในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านซอฟท์แวร์ของประเทศ ซึ่งผู้ชนะเลิศในประเภทนักเรียน นิสิตและนักศึกษา จะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และถือเป็นเวทีประกวดซอฟท์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ในระหว่างการแถลงข่าว ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือในการพัฒนากำลังคน และความสำเร็จจากวันวาน…สู่วันนี้” ร่วมกับ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยศิษย์เก่าในโครงการ YSC และ NSC และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดโครงงานในงาน Intel ISEF ณ สหรัฐอเมริกา ได้แก่ รศ.ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ.2563 และนายณัฎฐ์ ปิยะปราโมทย์ วิศวกรซอฟท์แวร์อาวุโส บริษัท อโกด้า เซอร์วิสเซส จำกัด

ทางด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวว่า “นอกเหนือจาก (สวทช.) จะมีภารกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนาแล้ว ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย และ (สวทช.) เข้าสู่ปีที่ 30 ในปีพ.ศ.2564 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมการประกวดที่สำคัญหลายกิจกรรม สำหรับผลงานโครงงานทั้งหมดของเยาวชนในโครงการ YSC มีทั้งสิ้น 12,026 โครงงาน และได้ส่งเข้าประกวดในเวที Intel ISEF จำนวน 79 โครงงานและได้รับรางวัลจากเวทีดังกล่าว 22 รางวัล และยังได้ส่งผลงานจากโครงการ YSC เข้าประกวดในเวทีประกวดระดับนานาชาติอื่นๆ รวม 99 ผลงานและได้รับรางวัลรวม 44 รางวัล เช่น I-SWEEP ที่ได้ส่งผลงาน 7 โครงงาน และได้รับรางวัล 8 รางวัล, Genius Olympiad ที่ได้ส่งผลงาน 1 โครงงานและได้รับ 1 รางวัล ขณะที่โครงการ NSC สามารถผลิตและสร้างนักเขียนโปรแกรมที่มีทักษะความสามารถสูงให้แก่วงการอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์จำนวนไม่น้อย”

ส่วน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ระบุว่า “(วช.) ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่เยาวชนผ่านเครือข่ายศูนย์ประสานงานภูมิภาค YSC ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี,มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อพัฒนาผลงานเข้าประกวดในโครงการ YSC และให้ทุนสนับสนุนแก่เยาวชนผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยภูมิภาค 6 แห่ง ได้แก่

  1. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  4. คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา
  5. สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  6. และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

เพื่อพัฒนาผลงานสำหรับแข่งขันในโครงการ NSC อีกทั้งสนับสนุนทุนแก่ (สวทช.) ในการจัดการประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติครั้งนี้”


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!