ข่าวใหม่อัพเดท » “ดีเอสไอ” เผยความคืบหน้า กรณี บ. อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ปฯ กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุน

“ดีเอสไอ” เผยความคืบหน้า กรณี บ. อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ปฯ กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุน

4 พฤศจิกายน 2020
0

“ดีเอสไอ” เผยความคืบหน้า กรณี บ. อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ปฯ กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุน ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

          ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษที่ 103/2560 กรณี บริษัท อีเกิ้ลเกตส์ กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีพฤติการณ์เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยอ้างว่าเป็นบริษัทซื้อขายดัชนีหุ้นมาจากสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งบริษัทมาแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งพฤติการณ์ของขบวนการนี้มีการกระทำ ความผิดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยให้กลุ่มหนึ่งจัดบรรยายชักชวนผู้เสียหายในประเทศไทยให้หลงเชื่อร่วมลงทุนกับบริษัท และอีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ในการยักย้ายถ่ายโอนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากผู้เสียหาย ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหายประมาณ 250 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 235 ล้านบาท

          ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีทั้งสิ้น 21 ราย เป็นผู้ต้องหาชาวไทย 19 ราย และชาวต่างชาติ 2 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล ส่วนผู้ต้องหาชาวต่างชาติรายอื่น อยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างชาติเพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี นั้น คดี นี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหากลุ่มแรก รวม 13 ราย โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาว่า จำเลย ที่ 1, ที่ 3, ที่ 4, ที่ 5, ที่ 6, ที่ 7, ที่ 8, ที่ 9, ที่ 10, ที่ 12 และที่ 13 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นรายกระทง รวมโทษจำคุกคนละ 10 ปี ทางนำสืบ

          จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับจำเลยที่ 3,ที่ 5 และที่ 6 คนละ 1,000,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และให้จำเลยร่วมกันคืนต้นเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งหมดพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับจำ เลยที่ 2 และที่ 11 ให้ยกฟ้อง ต่อมา พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาอีกกลุ่มหนึ่ง รวม 6 รายเป็นจำเลยที่ 1-6 ซึ่งรวมถึงตัวการใหญ่ชาวไต้หวันที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและแชร์ลูกโซ่หลายกลุ่ม

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1-6 มีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุก จำเลยที่ 1 กำหนด 50 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 คนละ 20 ปี รวมทั้งให้จำเลยทั้งหกร่วมกันคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหาย 12 ราย ตามจำนวนที่ผู้เสียหายแต่ละรายนำมาร่วมลงทุน และยังไม่ได้รับคืน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ได้กู้ยืมไป

          นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังได้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในความผิดฐานฟอกเงินอีกด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความมุ่งมั่นในการสืบสวน สอบสวน ป้องกัน และปราบปราม อาชญากรรมพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน

          ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอฝากเตือนไปยังประชาชน ให้ระมัดระวังการชักชวนให้ลงทุนที่อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้ แม้ว่าจะมีการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยวิธีต่างๆ หรือการโฆษณาชวนเชื่อว่า มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ขออย่าได้ไว้วางใจโดยเฉพาะหากมีพฤติการณ์ในการชักชวนลงทุนดังกล่าว ขอให้ตรวจสอบความเป็นมาของบริษัทหรือประวัติของผู้ชักชวนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน และหากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแส สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิศษได้ที่ เลขที่ 128 ถนน
แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หรือทางสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!