ข่าวใหม่อัพเดท » ดีอีเอส แถลงพบโพสต์ผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กว่า 3 แสนเรื่อง

ดีอีเอส แถลงพบโพสต์ผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กว่า 3 แสนเรื่อง

20 ตุลาคม 2020
0

วันที่ 19 ต.ค.63 เวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุม MDES 2 ชั้น 9 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ : นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงฯ แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์เฝ้าระวังและติดตามเว็บไซด์ที่ไม่เหมาะสม ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าตั้งแต่ศูนย์ฯได้ดำเนินการเฝ้าระวังมาตั้งแต่วันที่ 13-18 ต.ค.63 ได้ตรวจสอบผลข้อความที่ไม่เหมาะสมจำนวนกว่าล้านข้อความ เมื่อทำการตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม 322,990 เรื่อง จากข้อความที่ตรวจพบล่าสุด 1.6 ล้านข้อความ แบ่งเป็น ทวิตเตอร์ 75,076 เรื่อง เฟซบุ๊ก 245,678 เรื่อง และเว็บบอร์ด 4,236 เรื่อง

โดยศูนย์ฯ จะเน้นการดำเนินการกับผู้นำขึ้นข้อความบนสื่อออนไลน์คนแรก หรือผู้โพสต์คนแรกก่อนจำนวนหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีทั้งเป็นแกนนำกลุ่มมวลชน นักการเมืองและผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย อาทิ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Pavinchachavalpongpun และทวิตเตอร์ ที่พบว่าเป็นของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์,เพจเฟซบุ๊กของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล,นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำมวลชน รวมถึงสื่อ และการรายงานสถานการณ์ทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ Voice TV และเพจเยาวชนปลดแอก Free Youth ทั้งหมดเข้าข่ายผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนก่อนหน้านี้ศาลได้มีคำสั่งให้ปิดกั้น เพจ Royalist Market Place (ตลาดหลวง) ไปแล้ว 2 ครั้ง และหากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือแพลตฟอร์ม ไม่ทำการปิดกั้นภายใน 15 วัน กระทรวงฯ จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้เอาผิดตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตามฝากเตือนประชาชน ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะโพสต์ข้อความ และภาพในสถานการณ์ใดๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้ผิดต่อกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ได้ติดตามและมอนิเตอร์ ความเคลื่อนไหว การใช้โซเชียลมีเดีย รวมถึงผู้ที่ทำการแชร์ข้อมูลรีทวิต ที่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเอาผิดทางคดีตามขั้นตอนของกฎหมายทันที และหากพบว่ามีเพจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่เกี่ยวและบุคคลมีชื่อเสียง อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

“นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอสฯ กำชับและมีความห่วงใย ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การชุมนุม กระทรวงฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ทยอยส่งหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้ ส่งให้ทางกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงขออำนาจศาล ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาด”

ทั้งนี้เป็นการดำเนินการตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.63 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป

โดยข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ข้อ 2 ระบุไว้ว่า “ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบ ร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

ขณะที่ ในส่วนบทบาทของกระทรวงฯ ที่ผ่านมาก็มุ่งแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลหรือนำเข้าข้อมูลผิดกฎหมายสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ช่วงนี้ คือ มาตรา 14 (2),14 (3) และมาตรา 27
ทั้งนี้ มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และ (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิว เตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

เมื่อกระทรวงฯ มีคำสั่งศาลถึงผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังไม่ดำเนินการ นำข้อมูลที่ผิดกฎหมายออก มาตรา 27 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

นายภุชพงค์ฯ กล่าวว่า ล่าสุดนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดีอีเอส ได้มอบหมายให้ตน พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ทยอยส่งหลักฐานที่เก็บรวบรวมได้ทั้งหมด ส่งให้กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) และตำรวจ รวมถึงขออำนาจศาล ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาด

นายภุชพงค์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับสื่อทีวี ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเป็นผู้กำกับดูแล และเข้าใจว่าทางกสทช.เป็นคณะกรรมการร่วมเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอส ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับสั่งการจาก (กอร.ฉ.) เช่นกัน เพราะฉะนั้นสื่อทีวีที่ไลฟ์สด หรือเผยแพร่เนื่อหาที่ผิดกฎหมาย ทาง (กสทช.) จะเป็นผู้กำกับและติดตาม แต่สื่อต่างๆ ที่ไลฟ์สดผ่านอินเตอร์เน็ตทางกระทรวงดีอีเอส จะอาศัยอำนาจหน้าที่ความผิดทางพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ รวมถึงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 15 ต.ค.63 เป็นต้นมา


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!