ข่าวใหม่อัพเดท » โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้หมู่บ้านคนรักษ์ช้าง ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้หมู่บ้านคนรักษ์ช้าง ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

17 กันยายน 2020
0

โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การประชุมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้หมู่บ้านคนรักษ์ช้าง ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก

เมื่อวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท รองประธานกรรมการโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาบ้านเศรษฐกิจพอเพียง การประชุมเชิงปฎิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้หมู่บ้านคนรักษ์ช้าง และบรรยายพิเศษ ณ โรงแรมฮอลิเดย์อิน แอนด์ สวีทส์ ซิตี้เซ็นเตอร์ จังหวัดระยอง โดยมีนายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน ผู้ตรวจกรมพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกรมพัฒนาชุมชน ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ พร้อมด้วยวิทยากร และผู้เขี่ยวชาญ ประกอบด้วย ดร.โนชญ์ ชาญด้วยกิจ นายกสมาคมอนุรักษ์กลุ่มป่าตะวันออก นายธรรมนูญ เต็มชัย หัวหน้าศูนย์วิจัย และพัฒนานวัตกรรมการมอุทยานแห่งชาติฯ นายพิทักษ์ ยิ่งยง หัวหน้าส่วนอนุรักษ์สัตวป่าฯ ผู้อำนวยการสถาบันฯสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และสมาชิกหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง จำนวน 306 คน เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท รองประธานกรรมการโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ กล่าวว่า ” ความเป็นมาของโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เกิดขึ้นจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับโครงการอนุรักษ์ชัางป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมพระราชทานชื่อโครงการ “พัชรสุธาคชานุรักษ์” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยพระองค์ และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เริ่มนำร่องฟื้นฟูพื้นที่ป่า ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม สร้างแหล่งน้ำใหม่ สร้างฝายชะลอน้ำ สร้างแหล่งอาหารสัตว์ป้าและโป่งเทียม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง จังหวัดระยอง พร้อมทั้งสร้างระบบเตือนภัยชุมชน ด้วยระบบกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าอัตโนมัติ ดำเนินงานผ่าน ” ศูนย์ปฎิบัติการคชานุรักษ์ ” เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่า โดยเฉพาะช้างป่าที่มีแนวโน้มเดินออกนอกเส้นทางที่ควรเดิน ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชน และนำข้อมูลการเดินของช้าง มาใช้วางแผนฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่าต่อไป เมื่อการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องประสบความสำเร็จ จึงขยายผลไปยังพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวะฉะเชิงเทรา

ส่วนการดำเนินงานด้านพัฒนาชุมชน มีหมู่บ้านนำร่อง หรือ “หมู่บ้านคชานุรักษ์ ” ใน 5 จังหวัดภาคตะวันออกเพื่อสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมของช้างให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้ การประกอบอาชีพ การออม และการบริหารจัดการเงินทุนของชุมชน เสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน

วัตถุประสงค์การดำเนินงาน สร้างความสมดุลระหว่างคนกับช้าง ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวทางพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้าง รวมทั้งการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ด้าน คือ

1.พัฒนาอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้มีความอุดมสมบูรณ์
2.เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยมีความสมดุลของระบบนิเวศ
3.เพื่อพัฒนาอาชีพ และคุณภาพขีวิตของชุมชน

การดำเนินงานสร้างความสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า แบ่งเป็น 3 ด้าน ตามพื้นที่ ได้แก่
1 พื้นที่ป่าอนุรักษ์สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่า และพื้นที่แนวกันชน อาทิ จัดหาแหล่งน้ำ จัดทำทุ่งหญ้าเพื่อเป็นอาหารสำหรับ ช้างป่า และดำเนินการสร้างโป่งเทียมสำหรับช้างป่าและสัตว์ป่า จัดตั้งพื้นที่แนวกันชน ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อชุมชน 214 ไร่ ในอำเภอแก่งหางแมว จันทบุรี จัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการคชานุรักษ์ในส่วนพื้นที่ชุมชน มีการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำของประชาชน และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ในการนี้กรมพัฒนาชุมชน กำหนดโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมประชุมเชิงปฎิบัติการ การถ่ายทอดองค์ความรู้หมู่บ้านคนรักษ์ช้างมีวัตถุประสงค์
1.เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างคนและช้าง
2.เพื่อถอดบทเรียน และถ่ายทอดองค์ความรู้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว

ทั้งนี้ได้จัดกิจกรรม การอภิปรายกลุ่ม และนำเสนอผลการวิเคราะห์สภาพชุมชน คนกับช้าง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน โดยผู้แทนกลุ่มจากหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากช้าง เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความสามารถในการดำเนินการพัฒนาหมู่บ้าน และอยู่ร่วมกันกับช้างแก่ผู้แทนหมู่บ้าน มีผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์ด้านต่างไป ในการให้คำปรึกษาหารือ แนะนำการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นการต่อไป


ดร.โนชญ์ ชาญด้วยกิจ ข่าว/ภาพ

นายโยธิน พรมแตงทีมข่าวกอง บก.
รายงาน

error: Content is protected !!