“หมอล็อต” พร้อมคณะวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ลุยถ้ำกลางป่า จ.จันทบุรี หาค้างคาวมงกุฎเพื่อเก็บตัวอย่างวิจัยหาเชื้อโควิด-19 วางแผนการป้องกันและรักษาโรคอุบัติใหม่
เมื่อช่วงกลางดึกของคืนวันก่อน ที่ถ้ำสะตอ หมู่ 2 ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” พร้อมด้วยด็อกเตอร์สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ร่วมกันตรวจหาค้างคาวภายในถ้ำดังกล่าว โดยมุ่งเน้นไปที่การค้นหาค้างคาว “มงกุฎ” พบว่า มีอยู่จำนวนหนึ่ง จึงจับมากว่า 100 ตัว นำมาตรวจสอบ เลือด น้ำลาย และอุจจาระ ก่อนนำตัวอย่างที่เก็บได้จากค้างคาวชนิดนี้ไปหาเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างละเอียดในห้องแล็ป ต่อไป
ต่อมาในช่วงเช้า ที่โรงเรียนบ้านคลองคต หมู่ 7 ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี นายสัตวแพทย์ภัทรพล หรือ หมอล๊อต พร้อมด้วย ด็อกเตอร์สุภาภรณ์ และคณะ ร่วมกันให้ความรู้การมีเชื้อโรคในค้างคาวแก่ผู้นำชุมชน ครูและนักเรียนโรงเรียนดังกล่าว พร้อมกับมอบหน้า กากอนามัย เจลล้างมือ และสิ่งของอื่น ๆ ที่ได้รับการบริจาคจาก “วชิรวิชญ์ ชีวอารี” หรือ “ไบร์ท” นักแสดงชื่อดังแก่โรงเรียนและผู้นำชุมชนไปใช้ประโยชน์ โดยในการให้ความรู้ คณะของหมอล็อตได้ทราบจากผู้นำชุมชนว่า ยังคงมีชาวบ้านบางคนในพื้นที่จับค้างคาวมารับประทาน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์แต่ยังไม่พบผู้ป่วยจากการรับประทานค้างคาวเป็นอาหารในพื้นที่ ทีมสัตวแพทย์ และคณะวิจัยจึงให้คำแนะนำผู้นำชุมชนเพื่อนำไปประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่างรับประทานค้างคาวเพราะอาจเกิดโรคระบาดได้
ด็อกเตอร์สุภาภรณ์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องเริ่มมีการตรวจสอบค้างคาวมังกุฏ เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า ไวรัสโควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดในคนมีลักษณะเดียวกันกับไวรัสที่พบในค้างคาวมุงกุฏ ที่สำคัญได้มีการพบค้างคาวชนิดนี้ในไทยด้วย ในเมืองไทยมีค้างคาวมุงกุฏถึง 23 สายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องค้นหาโรคและไวรัสโควิด 19 ในค้างคาวมุงกุฏทุกสายพันธุ์ในเมืองไทย และเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการหาเชื้อไวรัสโควิด 19 ในค้างคาวมุงกุฏอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ การวิจัยเรื่องโรคจากค้างคาวที่เมืองไทยทำมาเกือบ 20 ปี ยังไม่เคยมีการตรวจสอบค้าวคาวมุงกุฏแต่อย่างใด จึงยังไม่มีข้อมูลว่าค้างคาวมุงกุฏมีเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือไม่ ซึ่งจะต้องหาคำตอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองการพบเชื้อไวรัสโควิด 19 ในค้างคาวมุงกุฏแบบเดียวที่พบค้างคาวสายพันธุ์นี้ในประเทศจีน เมืองไทยก็มีโอกาสจะพบเชื้อไวรัสนี้ แต่อัตราการติดเชื้อจะมีโอกาสมากหรือน้อย ต้องตรวจสอบกันต่อไป ส่วนเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่จะหมดไปจากเมืองไทย ไวรัสเดียวกันนี้จะกลับเกิดขึ้นในไทยจากค้างคาวมุงกุฏหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์การกินอาหารของคนไทย หากไม่กินค้างคาวก็ยากจะได้รับเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ที่เป็นห่วงคือชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปจับค้างคาวมากินมีโอกาสจะติดเชื้อได้
ด้านนายสัตว์แพทย์ภัทรพล หรือ หมอล็อต เปิดเผยว่า เป็นที่น่ากังวลที่ยังมีคนนิยมกินค้าง คาว เพราะมีความเชื่อผิด ๆ การกิน การจับ มีโอกาสจะได้รับเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคอื่น ๆ ก็ได้ จึงจำเป็นต้องทำคู่มือความปลอดภัยและอันตรายจากค้างคาวแจกจ่ายให้ประชาชน ขณะนี้กลุ่มนักวิจัยกำลังศึกษาเส้นทางการอพยพ เส้นทางการหากินของค้างคาว โดยเน้นไปที่ค้าง คาวมุงกุฏ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสหรือโรคที่มาจากค้างคาวในอนาคต เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับไวรัสโคโรนา 2019 แต่วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุด คือการไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติหรือบุกรุกป่า ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่า เชื้อโรคใด ๆ ที่อยู่ในสัตว์ป่าก็จะไม่สามารถมาสู่คนได้
ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก