ข่าวใหม่อัพเดท » “ร.อ.ธรรมนัส” รมช.เกษตรฯ พร้อมด้วย อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ลงพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้งในเขตลุ่มภาคกลาง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

“ร.อ.ธรรมนัส” รมช.เกษตรฯ พร้อมด้วย อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ลงพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้งในเขตลุ่มภาคกลาง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

16 กุมภาพันธ์ 2020
0

“ร.อ.ธรรมนัส” รมช.เกษตรฯ พร้อมด้วย อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ลงพื้นที่แก้ปัญหาภัยแล้งในเขตลุ่มภาคกลาง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

วันที่ 16​ ก.พ.63​ ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี : ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในลุ่มน้ำภาคกลาง พร้อมให้นโยบายด้านการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และกรมพัฒนาที่ดิน ณ ห้องห้องประชุมป่าสักธารา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

จากนั้นได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์กรมฝนหลวงและการบินเกษตรสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้งและสถานการณ์น้ำก่อนจะเดินทางไปยังสมาคมชาวไร่อ้อยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ร้อยเอก ธรรมนัสฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ค่อนข้างรุนแรงกว่าในหลายปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนของ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล,เขื่อนสิริกิติ์,เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า มีปริมาณน้ำใช้การต้นฤดูแล้งรวม 4 เขื่อนหลัก ปี 2562 จำนวน 5,377 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต่ำเป็นอันดับ 2 ในรอบ 20 ปี (จากปี 2558 มีปริมาณน้ำใช้การต้นฤดูแล้ง จำนวน 4,247 ล้าน ลบ.ม.) และมีปริมาณน้อยกว่าปี 2561 จาก 12,840 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากความผันแปรของสภาพอากาศ สภาพการใช้ที่ดินเปลี่ยนไป ขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำ และความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมีแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร,กรมชลประทาน​ และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกันบริหารจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนมีน้ำ สำหรับทำการเกษตร และอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ

ส่วนด้านการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับใช้ทางการเกษตร ได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้กับ 4 เขื่อนหลัก รวมถึงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการฝนและน้ำสำหรับทำการเกษตร ซึ่งมีการเตรียมแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2563 ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563​ นี้เป็นต้นไป

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่
1.จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง
2.จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง
3.สำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน (เพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม)
4.จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และ
5.จัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม พร้อมทั้งสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามเตรียมความพร้อมในการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง ประสานความร่วมมือและข้อมูลจากทุกส่วน ทั้งด้านน้ำเพื่อการเกษตรของพืชทุกชนิด โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคของพี่น้องประชาชนและน้ำในแหล่งเก็บกักต่างๆ

สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!