ตร. ผนึก กรมประมง จัดอบรมเชิงปฎิบัติการให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือประมง สมาคมประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ให้เข้าใจข้อกฎหมายตามพระราชกำหนดการประมงใหม่ มีเจ้าหน้าที่กรมประมง และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 864 คนเข้าร่วม
พัทยา-(วันที่ 1 มิ.ย. 62 ) ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ที่มีความประสงค์จะใช้ท่าเทียบเรือประมงต้องจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงต่อกรมประมง และต้องจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือทุกลำที่เข้าใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง และมีหน้าที่ต้องจัดทำเอกสารหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ จากการกำหนดดังกล่าว กรมประมงได้ดำเนินการออกกฎหมายลูกหลายฉบับเพื่อให้การปฏิบัติของท่าเทียบเรือประมงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กล่าวคือให้ท่าเทียบเรือประมงเป็นผู้จัดทำรายงานข้อมูลการนำสัตว์น้ำที่ได้จากการจับรายงานต่อกรมประมง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการด้านการประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งการรวบรวมข้อมูลและการจัดเก็บดังกล่าวนั้นต้องมีความครบถ้วนถูกต้องและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล (Good governance) โดยการมีส่วนร่วมจากท่าเทียบเรือประมง การได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการป้องกันการทำประมงที่เกินศักย์การผลิต หรือควบคุมมิให้มีการจับสัตว์น้ำที่มากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสามารถผลิตขึ้นทดแทนได้ทัน อีกทั้งการจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายของท่าเทียบเรือประมงจะเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุดในระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะทำให้การซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำเป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใส และเชื่อมั่นได้ว่าสัตว์น้ำที่ปรากฏอยู่ในหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำนั้น ไม่ได้มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated : IUU fishing)
กองบริหารจัดการเรือประมงและการทำการประมง และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันจัดอบรมเชิงปฎิบัติการ เรื่อง “การเพิ่มศักยภาพการทำงานของท่าเทียบเรือประมงในการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำ” ให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือประมง สมาคมประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ทั่วประเทศ ตามพระราชกำหนดการประมง เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมตระหนักถึงการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และมีความรู้ ความเข้าใจ ในแนวทางการปฏิบัติตามระบบตรวจสอบย้อนกลับของท่าเทียบเรือประมงภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 เพื่อแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นของผู้ประกอบการและเจ้าห้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว
โดย นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง และ พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี/ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย(ศปมผ.) มาเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งแรก ในระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมทีซิกซ์ไฟว์ โฮเทล จังหวัดชลบุรี เพื่อให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือประมง สมาคมประมง ในจังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ ได้เข้าใจในการปฎิบัติอย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ กองบริหารจัดการเรือประมงและการทำการประมง กรมประมง เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจภายใต้นโยบายในการมุ่งเน้นเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated : IUU fishing) และได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ โดยปฏิรูปการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการข้อมูลประมงอย่างมีส่วนร่วม โดยปรับปรุงระบบการรายงานทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมประมง (Thai Flagged Catch Certification system) การใช้งานระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยการจัดทำแบบบันทึกข้อมูลเรือประมงที่เข้าใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง การจัดทำแบบสรุปรายวันบันทึกข้อมูลเรือประมงที่เข้ามาใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง การจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (ขนส่งสัตว์น้ำทางรถยนต์) และการจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ (MCPD) อีกทั้งมีการปรับกฎหมายประมงให้เป็นปัจจุบัน จึงกำหนดจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเพิ่มศักยภาพการทำงานของท่าเทียบเรือประมงในการตรวจสอบย้อนกลับสัตว์น้ำ” เพื่อให้ความรู้ในการจัดทำเอกสารรายงานต่าง ๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกต้อง ตามที่กรมประมงประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อขับเคลื่อนแผนการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ตามวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน โดยมี ผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ได้แก่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือประมง สมาคมประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล เจ้าหน้าที่กรมประมง และผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 864 คน
โดยมีระยะเวลาและสถานที่จัดอบรม รวมจำนวน 4 รุ่นประกอบด้วย
รุ่นที่ 1 ในระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมทีซิกซ์ไฟว์ โฮเทล จังหวัดชลบุรี (ครอบคลุมท่าเทียบเรือประมงในจังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ จำนวน ๒๐๙ คน)
รุ่นที่ 2 ในระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมโนโวเทล ภูเก็ต โภคีธรา จังหวัดภูเก็ต (ครอบคลุมท่าเทียบเรือประมงในจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรังและสตูล จำนวน 209คน)
รุ่นที่ 3 ในระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพชรบุรี (ครอบคลุมท่าเทียบเรือประมงในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์และชุมพร จำนวน ๒๔๓ คน)
รุ่นที่ 4 ในระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (ครอบคลุมท่าเทียบเรือประมงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานีและนราธิวาส จำนวน 203 คน)
โดยมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) โดยใช้แนวทางการปฏิบัติตามระบบตรวจสอบย้อนกลับของท่าเทียบเรือประมง ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 การใช้งานระบบตรวจสอบย้อนกลับในประเทศ Thai Flagged Catch Certification ผ่านระบบ Web application การจัดทำแบบบันทึกข้อมูลเรือประมงที่เข้าใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง การจัดทำแบบสรุปรายวันบันทึกข้อมูลเรือประมงที่เข้ามาใช้บริการจอดเรือ ขนถ่ายสัตว์น้ำ นำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือประมง การจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (ขนส่งสัตว์น้ำทางรถยนต์) การจัดทำหนังสือกำกับการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ (MCPD) รวมถึง มาตรการและแนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายท่าเทียบเรือประมง วิธีดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อตรวจพบการกระทำความผิด พร้อมบทกำหนดโทษตามกฎหมายท่าเทียบเรือประมง เพื่อให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือประมง สมาคมประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล เจ้าหน้าที่กรมประมง และผู้เกี่ยวข้อง ได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในระบบตรวจสอบย้อนกลับของท่าเทียบเรือประมงเพื่อปฎิบัติอย่างถูกต้องต่อไป..