ข่าวใหม่อัพเดท » การประชุม นขต.กอ.รมน. ครั้งที่ 11/2562

การประชุม นขต.กอ.รมน. ครั้งที่ 11/2562

18 พฤศจิกายน 2019
0

วันนี้ (18พ.ย.62) เวลา 09.30 น. พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. ได้เปิดเผยว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้จัดการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. ครั้งที่ 11/2562 สรุปผลการปฏิบัติงานในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยมีผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงของ กอ.รมน.(ส่วนกลาง) และผู้แทนของ กอ.รมน.ภาค 1- 4 เข้าร่วมประชุมฯ บริเวณชั้น 3 อาคารรื่นฤดี กอ.รมน. โดยมี พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานการประชุมฯ สรุปเรื่องที่สำคัญ ดังนี้

เรื่องแรก นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน. มอบแนวทางการบูรณาการเครื่องมือพิเศษในการแก้ไขปัญหา

จชต. นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.รมน. ได้มอบแนวทาง/นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ในพื้นที่จชต.ด้วยการบูรณาการเครื่องมือพิเศษในการแก้ปัญหาจชต. เพื่อสกัดกั้นตามแนวชายแดน ไทย-มาเลเซีย ดำเนินการวางระบบเฝ้าตรวจโดยประสานเครื่องมือประเภทต่างๆให้เป็นเครือข่ายเต็มพื้นที่แนวชายแดนและนำเทคโนโลยีมาดัดแปลงประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จชต. ของทั้งสองประเทศ พร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บังคับบัญชาระดับสูง เพื่อประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงาน และการแก้ปัญหาตามแนวชายแดนร่วมกันให้เป็นผลดีมากยิ่งขึ้นต่อไป

โดยในปี 2563 ได้เน้นแผนการปฏิบัติงาน ในพื้นที่ 3 จชต. จำนวน 3 ด้าน กล่าวคือ

  • ด้านความมั่นคง ให้เร่งสร้างความสงบสุขในพื้นที่ฯ จะต้องมีความชัดเจน และมีเอกภาพในการแก้ไขปัญหา เพื่อยุติสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่
  • ด้านการพัฒนา ใช้การพัฒนาควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการปรับลดพื้นที่ 9 อำเภอ ออกจากพื้นที่ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และนำมาตรการตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มาบังคับใช้แทน ซึ่งจะทำให้มีส่วน ช่วยส่งเสริมการพัฒนา รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง
  • ด้านการสร้างความเข้าใจ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อรักษาความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จะใช้เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น โดยไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

เรื่องที่สอง การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ
ตามที่ได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่, จ.ลำปาง, จ.ลำพูน, จ.แม่ฮ่องสอน, จ.น่าน, จ.แพร่ และ จ.ตาก อันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน

จากสถานการณ์ดังกล่าว ผอ.รมน.ภาค 3 ในฐานะผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ได้เตรียมการวางแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยการกำหนดห้วงระยะเวลาการปฏิบัติการ, กำหนดหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัด ร่วมบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณา จักร(ฝ่ายทหาร) เป็นผู้ประสานงานหลัก, การติดตามสถานการณ์ (War Room) เพื่อให้หน่วยงานในความรับผิดชอบได้ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างการรับรู้ในการแก้ปัญหา ไฟป่าและหมอกควัน ให้กับประชาชนได้อย่างถูกวิธี, การสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเกิดไฟป่ารวมทั้งขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควัน จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนและถาวรได้นั้นต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

เรื่องสุดท้าย การเสนอแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กอ.รมน.
ตามคำสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 51/2560 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 มีการแก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ในมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอา ณาจักร พ.ศ.2551 ให้มีความหมายรวมถึง การดำเนินการเพื่อป้องกันควบคุมและแก้ไขฟื้นฟูสถานการณ์ กรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 นั้น

กอ.รมน. ได้จัดทำแผนรองรับบทบาทหน้าที่ดังกล่าวโดย ผอ.รมน. ได้กรุณาอนุมัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กอ.รมน. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 และผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในราชาณาจักร ครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กอ.รมน. มีความสอดคล้องกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ซึ่งเนื้อหาสาระหลักของแผนดังกล่าว กอ.รมน. จะมุ่งเสริมการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และไม่ซ้ำซ้อน กับการปฏิบัติของหน่วยงานอื่น โดยมีกลไกหลักในการปฏิบัติคือ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ด้วยการ บูรณาการอำนวยการประสานงานและเสริมการปฏิบัติกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยทหารในพื้นที่ และ กลุ่มมวลชนในเครือข่าย กอ.รมน.

บทบาทของ กอ.รมน.ภาค จะประสานการปฏิบัติกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในระดับต่างๆ เพื่อร่วมปฏิบัติ หรือเสริมการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค โดยเฉพาะกรณีที่เกิดในพื้นที่ตั้งแต่ 2 จังหวัด ขึ้นไป ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมช่องว่างในการจัดการกับสาธารณภัย ตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ระหว่างกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (กอปภ.จ) กับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ทำให้การอำนวยการประสานงานการบูรณาการและการสนับสนุนการปฏิบัติมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในส่วนของ กอ.รมน.จังหวัด จะร่วมปฏิบัติงานในศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็น ผอ.รมน.จังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัดตามแผนป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 เป็นผู้สั่งการ ควบคุม และบัญชาการ ในการระดมสรรพกำลังทรัพยากร จากฝ่ายพลเรือนและภาคประชาชน ทำให้เกิดเอกภาพในการจัดการกับสาธารณภัย ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และนำไปสู่การบูรณาการอย่างแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในระดับปฏิบัติการ

นอกจากนั้น ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ยังมิได้มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติและประ กาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน กอ.รมน.ภาค สามารถสั่งการหรือประสานการปฏิบัติให้ กอ.รมน.จังหวัด หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานทหารในพื้นที่ และกลุ่มมวลชนในเครือข่าย กอ.รมน.ดำเนินการเตรียมการก่อนและเกิดเหตุสาธารณภัยโดยทันที เพื่อยับยั้งป้องกันหรือลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้น

18 พ.ย. 62

error: Content is protected !!