ข่าวใหม่อัพเดท » ผู้ว่าฯ เชียงราย ลงพื้นที่ติดตามโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพาน

ผู้ว่าฯ เชียงราย ลงพื้นที่ติดตามโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพาน

9 พฤษภาคม 2024
0

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ติดตามโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพาน

วันนี้ (7 พ.ค. 67) นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ บ้านปางกล้วยค้าว หมู่ที่ 16 ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีเจ้าหน้าที่ท้องที่ ท้องถิ่น ประชาชนบ้านปางกล้วยค้าวให้การต้อนรับ ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และชลประทานเชียงราย ได้ชี้แจงรายละเอียดโครงการ พร้อมทำความเข้าใจลักษณะโครงการ และการดำเนินการแก่ประชาชนในพื้นที่

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับจังหวัดเชียงราย ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายชัยเดช จินดาวิจิตร ราษฎรบ้านปางกล้วยค้าว หมู่ที่ 16 ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำริน พร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎรตำบลป่าหุ่ง ตำบลสันกลาง และตำบลเมืองพาน อำเภอพานจังหวัดเชียงราย ซึ่งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567

กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 2 ได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วได้พิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้วยการก่อสร้างฝ่ายบ้านปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ ระบบส่งน้ำความยาว 2,000 เมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 200 ไร่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ได้ โดยกำหนดชื่อว่า “โครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ”

สำหรับโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรแก่เกษตรกรในฤดูฝนได้ 200 ไร่ และฤดูแล้งได้ 200 ไร่ และเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค – บริโภคของราษฎร ลักษณะโครงการ มีพื้นที่รับน้ำฝนเหนือที่ตั้งหัวงาน 36.50 ตารางกิโลเมตร ความยาวลำน้ำจากต้นน้ำถึงหัวงาน 10 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,308.47 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านหัวงานเฉลี่ยทั้งปี 12,372,109.88 ลูกบาศก์เมตร/วินาที การก่อสร้าง เป็นอาคารหัวงาน ประเภทฝายคอนกรีตล้วนปนหินใหญ่ ความยาว 12.00 เมตร ความสูง 2.00 เมตร มีอาคารบังคับน้ำปากท่อ จำนวน 1 แห่ง ประตูระบายทราย ขนาด 1.80 x 1.50 เมตร ระบบส่งน้ำประเภทคลองดาดคอนกรีตความยาว 2,000 เมตร ส่งน้ำได้ 0.05 ลูกบาศ์กเมตร/วินาที

ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ราษฏรขอพระราชทานความช่วยเหลือ ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะทำให้ในพื้นที่มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรได้ได้ตลอดทั้งปี


นที มีเดช รายงาน

error: Content is protected !!