ข่าวใหม่อัพเดท » ‘ผบ.นรด.’ เช็ความพร้อม ค่ายเขาชนไก่ รับนศท. กว่า 7 หมื่นคน เน้น ปลอดภัย สร้างความมั่นใจในการฝึกภาคสนาม

‘ผบ.นรด.’ เช็ความพร้อม ค่ายเขาชนไก่ รับนศท. กว่า 7 หมื่นคน เน้น ปลอดภัย สร้างความมั่นใจในการฝึกภาคสนาม

9 มกราคม 2024
0

‘ผบ.นรด.’ เช็ความพร้อม ค่ายเขาชนไก่” รับนศท. กว่า 7 หมื่นคน เน้น ปลอดภัย สร้างความมั่นใจในการฝึกภาคสนาม

เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2567 ที่ค่ายฝึก นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) เขาชนไก่ จ. กาญจนบุรี พล.ท. ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) เป็นประธาน การประกอบพิธีทางศาสนาและบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารเขาชนไก่ และเปิด กองอำนวยการฝึกภาคสนามนักศึกษาวิชาทหาร พร้อมกันนี้ ได้นำเตรียมความพร้อม ใน 5 มาตรการความปลอดภัยในการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร

เพื่อสร้างความมั่นใจและคลายความกังวลให้แก่ ผู้ปกครอง จากนโยบายการฝึกภาคสนาม และข้อห่วงใยของผู้บังคับบัญชาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย ของนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) เป็นอันดับแรก หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) จึงได้กำหนดมาตรการหลัก 5 ประการ ให้กับส่วนที่เกี่ยวข้องได้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับ นศท. ที่เข้ารับการฝึก รวมทั้งเพื่อ สร้างความมั่นใจและคลายความวิตกกังวลแก่ผู้ปกครอง ในการฝึกภาคสนาม นศท. ประจำปีการศึกษา 2566 นี้ จะมี นศท. ชั้นปีที่ 2- 3 จากส่วนกลาง และ นศท.ชั้นปีที่ 4- 5 จากทั่วประเทศ เข้ารับการฝึก ณ ค่ายฝึก นศท. เขาชนไก่ มากกว่า 72,000 คน

  • มาตรการด้านที่ 1
    • ความปลอดภัยในการเคลื่อนย้าย จัดรถโดยสารรับ-ส่ง นศท. จาก กทม. ไป-กลับค่ายฝึกเขาชนไก่ กว่า 1,900 เที่ยว โดยมีวันที่มากที่สุดถึง 63 คัน รถโดยสารทุกคันได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ผ่านการประมูลแบบ e-bidding ตามข้อสัญญาในหลักเกณฑ์ที่กำหนด
    • ตรวจสภาพความพร้อมของพนักงานขับรถ และรถโดยสาร ให้พร้อมและปลอดภัยในการใช้งาน โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนออกเดินทางในช่วงเช้าของทุกวัน
    • จัดเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนย้ายประจำอยู่บนรถโดยสารทุกคัน เพื่อกำกับดูแลในระหว่างการ เคลื่อนย้ายให้เกิดความปลอดภัย จัดให้มีแผนเผชิญเหตุในกรณีต่างๆ และได้ทำการฝึกทบทวนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนย้าย และขอรับการสนับสนุนชุดปฐมพยาบาลขบวนล่ะ 1 ชุด กรณีเกิดเหตุ เจ็บป่วยระหว่างการเดินทาง โดยมีแผนบรรทุก นศท.จำนวน 42 คน ต่อ คัน
    • จัดรถนำขบวนจาก มทบ.11 และ มทบ.17 ร่วมกับ ตำรวจทางหลวงและ ตำรวจภูธร จังหวัด และตำรวจภูธรอำเภอ ในแต่ละพื้น เพื่ออำนวยความสะดวก ควบคุมระยะต่อและจำกัดความเร็วของ ขบวนรถ ตลอดเส้นทางทั้งไปและกลับ
  • มาตรการด้านที่ 2
    • การให้บริการทางการแพทย์ จัดทำบัตรข้อมูลประจำตัว นศท. ให้พกติดตัวไว้ที่กระเป๋าเสื้อด้านขวาตลอดเวลาที่เข้ารับ การฝึก (ชื่อ-สกุล อายุ หมู่เลือด โรคประจำตัว ยาที่แพ้ หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ผู้ปกครอง และ เพื่อนสนิท) ช่วยให้สามารถช่วยเหลือ นศท. ที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว
    • จัดเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ประจำอยู่กับ นศท. ทุกกองร้อย และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ พร้อมยาและเวชภัณฑ์ประจำกองอำนวยการฝึกฯ พร้อม ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งยังได้ดำเนินโครงการ “นักศึกษา วิชาทหารปลอดภัยจากการฝึก” ของกรมแพทย์ทหารบก โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลค่ายสุรสีห์ และโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ที่อยู่ในพื้นที่
    • ติดสัญลักษณ์ (ผูกโบว์สีแดงแขนเสื้อด้านขวา) เพื่อให้ครูฝึกได้สังเกตุและเฝ้าระวัง นศท. ที่ มีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคอ้วน หรือมีโรคประจำตัว ความปลอดภัยจากโรคลมร้อน โดยได้อบรมครูฝึกทุกนาย ให้มีความรู้และทักษะพื้นฐาน ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมร้อน รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้ นศท. โดยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ทางสื่อโซเชียลก่อนเข้ารับการฝึก และ
    • จัดการอบรม เพื่อให้ นศท.ได้รู้ถึงวิธีการป้องกันตนเอง วิธีการสังเกตุอาการ และวิธีการปฏิบัติเมื่อตนเองหรือ เพื่อนๆ มีอาการของโรคลมร้อน พร้อมกำหนดให้เจ้าหน้าที่ส่วนปกครองเน้นย้ำให้ นศท.ทุกนาย ให้ความสำคัญกับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และสังเกตสีปัสสาวะของตนเองทุกวัน รวมทั้ง กวดขันให้ นศท.เติมน้ำให้เต็มกระติกก่อนออกไปทำการฝึก และดื่มน้ำทุกๆ 1 ชั่วโมง เพื่อช่วยระบายความร้อนขอ ร่างกาย
    • ติดตั้งเครื่องมือวัดอุณหภูมิ วัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ และธงสัญญาณในพื้นที่ การฝึก เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนและปรับระยะเวลาการฝึกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ
    • จัดเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ประจำอยู่กับ นศท.ทุกกองร้อย และมีรถพยาบาลที่ติดตั้ง อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยจากโรคลมร้อน ประจำอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง พร้อมกำหนดให้ทำการซักซ้อมและ ประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ป่วยจากโรคลมร้อนและส่งกลับไปรับการ บริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ในปีนี้ ทางกรมแพทย์ทหารบก ได้สนับสนุนนวัตกรรม Smart Cooling Bed มาประจำในที่สถานีซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมร้อน เพื่อเตรียมการและลดอันตรายจากโรคลมร้อน
    • ฝึกอบรมครูฝึก เพื่อให้มีความสามารถทำ CPR ช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และสามารถใช้เครื่อง AED กระตุกหัวใจอัตโนมัติ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • มาตรการด้านที่ 3
    • ด้านการฝึก จัดเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ-ทดสอบความพร้อมของสิ่งอุปกรณ์ ก่อนการใช้งาน ทุกครั้ง โดยเฉพาะที่สถานีทดสอบกำลังใจ การไต่หน้าผา – ลงทางดิ่ง สถานีที่มีการใช้สิ่งอุปกรณ์ประเภทกระสุนและวัตถุระเบิด และการฝึกกระโดดร่มแบบพาราเซล รวมทั้งจัดให้มีรถพยาบาล ฝ่ายการแพทย์ พร้อมพลขับประจำในพื้นที่การฝึก
    • การแต่งตั้งนายทหารนิรภัยการฝึก คอยให้คำแนะนำ ตรวจตรา และกำกับดูแลการปฏิบัติ ของเจ้าหน้าที่ครูฝึก ให้เป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
  • มาตรการด้านที่ 4
    • ด้านการเสริมสร้างสุขอนามัย : ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาศูนย์ฝึกฯได้รับฟัง แนวความคิดและปัญหาต่าง ๆ จาก นศท. ที่เข้ามาฝึกในแต่ละปี และได้นำมาแก้ไขพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยยึดโยงกับนโยบายของผู้บังคับบัญชาในเรื่องความปลอดภัยและการฝึกเชิงสร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนาเพื่อ อาทิจัดหาห้องสุขาน็อคดาวน์ เพิ่มเติม เป็น 65 ห้อง
    • ติดเครื่องกรองเพิ่มเติม ที่แทงค์น้ำขนาด 2,000 ลิตร รวมเป็น 12 จุด เพื่อให้มีจุดบริการ น้ำสะอาดที่เพียงพอกับ นศท. (เปลี่ยนทำความสะอาดไส้กรองในทุกๆ 3เดือน)
    • จัดหาเต๊นท์นอนเพิ่มเติม รวมจำนวน 2,800 หลัง สำหรับ นศท.ชั้นปีที่ 2และ3 พร้อทจัดหาเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ช่วยทำความสะอาดได้ทั่วถึงและประหยัดเวลา และติดตั้งฝักบัวไว้ในทุกโรง เพื่อทำความสะอาดร่างกายหลังการฝึก ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่อาจติดมากับคนใดคนหนึ่ง
    • ทางศูนย์ฝึกฯ จะแจกจ่ายถาดใส่อาหาร (ถาดหลุม) สำหรับใช้ประจำตัว นศท. จนกว่าจะจบการฝึก ป้องกันการปะปนกัน มีการล้างน้ำยา น้ำสะอาด ลวกน้ำร้อนฆ่าเชื้อ ลดไขมันที่เกาะติดถาด และนำใส่ถุงเก็บเพื่อป้องกัน ฝุ่นละออง ดินทราย ที่ลมพัด
    • ถังใส่เศษอาหาร และถังขยะต่างๆ ในพื้นที่ จะมีฝาปิดมิดชิด ไม่ทิ้งหมักเอาไว้ มีถุงดำใส่ รวมไปทิ้งทำลาย ฝึกการคัดแยกขยะเพื่อลดโลกร้อน
  • มาตรการด้านที่ 5
  • ความปลอดภัยด้านการประกอบอาหาร :ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของแม่ครัวที่มาประกอบอาหาร ใส่ใจความสะอาด สดใหม่ และคุณภาพของวัตถุดิบ รวมถึงความสะอาดของสถานที่ กระบวนการประกอบอาหาร ไปจนถึงภาชนะที่ใช้ และให้ความสำคัญกับเวลาและสถานที่ เพื่อให้ นศท.ได้ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการรับประทานอาหาร

พล.ท.ทวีพูล กล่าวว่า จากการตรวจความพร้อมของเจ้าหน้าที่และครูฝึก นศท. วันนี้ ทั้งด้านการปฐมพยาบาลนักศึกษาวิชาทหาร ด้านการฝึก และด้านอื่น ๆ ตามมาตรการทั้ง 5 ด้าน ในการรักษาความปลอดภัยให้กับ นศท. พบว่ามีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี รถรับส่งมีความปลอดภัย มีกำลังพลคุ้มกัน ด้านการดูแลสุขภาพ นศท. มีการเตรียมยาและเวชภัณฑ์ไว้พร้อม รวมถึงดูแลพิเศษสำหรับรายที่มีโรคประจำตัว หรือรายที่มีความเสี่ยงว่าขณะฝึกอาจเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นได้ จะมีการผูกริบบิ้นสีแดงไว้ที่อินทรนูแขนขวาเพื่อแสดงให้เห็นชัดเจน ง่ายต่อการสังเกตและการเข้าช่วยเหลือ เมื่อเกิดเหตุ และย้ำว่า การลงโทษ นศท. ที่ผิดวินัยจะไม่เกินกว่าเหตุอย่างแน่นอน โดยจะไปในลักษณะของท่ากายบริหาร และอาจมีการตัดแต้มบ้าง

“การฝึกอาจไม่ได้สบายเหมือนอยู่บ้าน เพราะเป็นการให้ นศท. ได้เผชิญชีวิต เป็นการสร้างวัคซีนชีวิต สร้างภูมิคุ้มกัน ให้ นศท. เติบโตอย่างเข้มแข็ง” พล.ท.ทวีพูล กล่าว


error: Content is protected !!