ข่าวใหม่อัพเดท » อำเภอปัว จัดงาน เทศกาลโลกของกว่างนักสู้แห่งขุนเขา ประจำปี 2566 ขบวนแห่ คึกคัก เหมือนหลายปีที่ผ่านมา

อำเภอปัว จัดงาน เทศกาลโลกของกว่างนักสู้แห่งขุนเขา ประจำปี 2566 ขบวนแห่ คึกคัก เหมือนหลายปีที่ผ่านมา

1 ตุลาคม 2023
0

อำเภอปัว จัดงาน เทศกาลโลกของกว่างนักสู้แห่งขุนเขา ประจำปี 2566  ขบวนแห่ คึกคัก เหมือนหลายปีที่ผ่านมา  

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 เวลา 16.30 น. ที่สนามข้างสถานีขนส่งรถโดยสารเทศบาลอำเภอปัว  จังหวัดน่าน นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดงานเทศกาลโลกของกว่าง นักสู้แห่งขุนเขา ประจำปี 2566 ร่วมด้วย นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน.เขต 3 โดยมี นายชนินทร์ พันธุ์เหม นายอำเภอปัว กล่าวรายงานการดำเนินกิจกรรม และในนามของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวอำเภอปัวให้การต้อนรับ พร้อมด้วยชุมชนต่างๆ ในพื้นที่อำเภอปัวได้จัดขบวนแห่เพื่อแสดงออกถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของท้องถิ่น ในงานเทศกาลโลกของกว่าง นักสู้แห่งขุนเขา ประจำปี 2566   เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ของชาวอำเภอปัว และจังหวัดน่าน  อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี อันดีของของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

ซึ่ง อำเภอปัวได้ร่วมกับชมรมพ่อค้าอำเภอปัว สภาวัฒนธรรม และผู้ประกอยการผลิตภัณฑ์สินค้า (OTOP) อุทยานแห่งชาติดอยภูคาได้จัดนิทรรศการภายในบริเวณงาน และสถาบัน วิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงองค์การพัฒนาพื้นที่สูงได้นำผลิตภัณฑ์พืชเมืองหนาวไปวางจำหน่ายในราคาถูกให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวในบริเวณงานอีกด้วย งานได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 8 ตุลาคม 2566

กว่าง เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกว่า แมงคาม เนื่องจากธรรมชาติมันชอบคามกัน (คาม เป็นการต่อสู้ของกว่างโดยเอาเขาประสานกันคีบและดันกันไปมา) หรืออาจเนื่องมาจากมักพบแมลงชนิดนี้อาศัยหากินอยู่ตามต้นคาม มีขนาดประมาณเท่าหัวแม่มือหรือโตกว่านั้นเล็กน้อย มีขา 6 ขา มีเขาสองเขา ใช้เป็นอาวุธต่อสู้กันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้และหลีกทางไป ซึ่งบางครั้งตัวที่มีขนาดเท่าๆ กัน ใช้เวลาในการต่อสู้กันนานหลายชั่วโมง มันจึงได้รับฉายาว่า “นักสู้แห่งขุนเขา” 

กว่างมีวงจรชีวิตประมาณ 1 ปี โดยเริ่มจากไข่ ฟักตัวเป็นตัวอ่อนอยู่ในดิน ตามโพรงไม้ ตอไม้ผุๆ หรือกองขี้เลื่อย เรียกว่า(แมงกั่นตู่) จากนั้นจะเป็นดักแด้แล้วลอกคราบเป็นแมลงกว่าง ออกจากดินบินออกมาหาคู่ผสมพันธุ์ วางไข่ในราวเดือน สิงหาคม-พฤศจิกายน แล้วตายไป กว่างตัวผู้จะมีเขาสองเขา 5 เขา โดยใช้เขาล่างงัดและหนีบศัตรูเพื่อแย่งตัวเมียในการผสมพันธุ์ มีหลายขนาด ตัวเล็กเขาสั้นเรียกว่า(กว่างกิ) ตัวปานกลางเขายาวปานกลาง เรียกว่า (กว่างแซม) ตัวใหญ่เขายาวเรียกว่า(กว่างโซ้ง)  ส่วนตัวเมียไม่มีเขาเรียกว่า อีโม๊ะ หรือ (อีหลุ้ม) 

ส่วนอาหารของกว่างตามธรรมชาติได้แก่เปลือกไม้ ยางไม้ที่มีรสหวาน เช่น ต้นคาม ต้นมะค่า เถารกฟ้า ส่วนอาหารที่คนนิยมนำมาเลี้ยงกว่าง เช่น อ้อย กล้วย แตงไทย และเถาวัลย์เป็นต้นโดยแต่ละวันจัดให้มีการประลองกว่าง ที่ชาวภาคเหนือได้ถือเป็นการเล่น เพื่อผ่อนคลาย เพื่อรอจะเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นประเพณีอันเก่าแก่ของคนภาคเหนือ อีกทั้งเพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา และดำรงรักษาให้คงอยู่ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอปัว และของจังหวัดน่าน

การเปิดงานเทศกาลโลกของกว่าง “นักสู้แห่งขุนเขา” ประจำปี 2566 ภายในงานได้จัด  กิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจหลากหลายอย่าง อาทิ จัดให้มีการประกวด การละเล่นพื้นบ้านและวิถีชีวิตของชนเผ่า การประลองชนกว่าง การประกวดกว่างสวยงาม การประกวดธิดากว่าง การแสดงนิทรรศการโลกของกว่าง และวงจรชีวิตของกว่าง การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน นำสินค้าออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ และผลิตภัณฑ์ของชุมชน ผ้าทอมือพื้นเมือง นำมาจำหน่ายในงานด้วย โดยมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากโดยในวันที่ 8 ตุลาคม 2566 หลังเสร็จสิ้นงาน จะมีการปล่อยกว่าง กลับคืนสู่ป่า เพื่อเป็นการให้กว่างได้ขยายพันธุ์ต่อไป


ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น
โทร. 0848084888

error: Content is protected !!