ข่าวใหม่อัพเดท » ผนึกกำลังเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เด็กเยาวชน อยู่ดี มีสุข และปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผนึกกำลังเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เด็กเยาวชน อยู่ดี มีสุข และปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

23 กันยายน 2019
0

กลุ่มลูกเหรียง ร่วมกับ ส.ส. และ ส.ว. จังหวัดชายแดนใต้ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และองค์กรภาคีโดยการสนับสนุนจาก สสส. และองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save The Children) ผนึกกำลังปักธงพื้นที่สร้างสรรค์ เด็กเยาวชน อยู่ดี มีสุขและปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562 ณ หอประชุมหลังเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา องค์กรภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 36 หน่วยงาน ร่วมกันจัดมหกรรม “เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เด็กเยาวชน อยู่ดี มีสุข และปลอดภัย” หวังสานต่อการขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยรอบด้านให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภายในงานเป็นการจัดแสดงความสำเร็จจากการดำเนินงานตลอด 17 ปี ของกลุ่มลูกเหรียงและองค์กรภาคี ในมิติของยุทธศาสตร์ การปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและปลอดภัยในวิถีชีวิต

          นางสาววรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ในฐานะองค์กรผู้รับผิดชอบหลักในการจัดงาน กล่าวว่า ทุกปีเราเฝ้าติดตามสถิติตัวเลขเด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นจากภัยพิบัติ และภัยจากมนุษย์ ข่าวดี คือ ตัวเลขลดน้อยลง แต่ยังคงมีความท้าทายที่ต้องช่วยกันทำงานต่อไป เราทุกคนต้องช่วยกันทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ผลักดันพัฒนากลไกปกป้องคุ้มครองเด็กในทุกระดับให้แข็งแรง ช่วยให้เด็กที่ตกอยู่ในภาวะเปราะบาง ได้เติบโตด้านจิตใจและจิตวิญญาณ ปัจจุบันยังมีเด็กจำนวนมากที่เผชิญชีวิตยากลำบาก แต่เขาเติบโตได้ เมื่อมีใครสักคนมองเห็นความหวังในตัวเขา และเชื่อมั่นในศักยภาพของเขาอย่างแท้จริง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ลูกเหรียงและผู้ใหญ่ทุกคนในสังคมต้องช่วยกัน

           เด็กหญิงแวซีตีอัชชะห์ แวหลง ตัวแทนเด็กในโครงการ “รู้ รอด ปลอดเด็กจมน้ำ” กล่าวถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายของเด็ก ๆ ในชายแดนใต้ ว่า เด็กในชายแดนใต้อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตรอบด้าน เราอยู่ท่ามกลางพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและการใช้อาวุธ และหลายกรณีเด็ก ๆ อย่างหนูก็ได้รับผลกระทบ เราอยู่ในพื้นที่ที่มีภัยพิบัติหลากหลายรูปแบบ เรามีสถิติการจมน้ำเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่เรากลับไม่ถูกเตรียมความพร้อมในเรื่องอะไรเลย เพื่อให้เราปลอดภัยมากขึ้น หนูอยากเรียกร้องให้พี่ ๆ คุณน้าคุณอา สร้างความพร้อมให้กับเรา ด้วยการให้เด็ก ๆ ทุกคนได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ทักษะการช่วยเหลือเพื่อนที่ตกลงไปในน้ำอย่างปลอดภัย ทักษะการเอาชีวิตรอดจากเหตุการณ์ความรุนแรงและภัยพิบัติ ทักษะการปฐมพยาบาลและการทำ CPR เพื่อให้หนูสามารถช่วยเหลือตนเองและเพื่อน ๆ ให้ปลอดภัยได้

          สำหรับกิจกรรมหลักภายในมหกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย การปาฐกถาของผู้แทนหน่วยงานและชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ รวมทั้งเสียงจากเด็กและเยาวชนเอง ที่มาสะท้อนถึงสภาพปัญหาและความต้องการของพวกเขาในการสร้างความปลอดภัยในพื้นที่ การนำเสนอข้อมูลสถิติและการทำงานในโครงการ กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง การนำเสนอพื้นที่ความเสี่ยงต่อการจมน้ำพร้อมแนวทางแก้ปัญหาในมุมมองเด็กชายแดนใต้ การเปิดตัวสื่อความปลอดภัยด้านต่าง ๆ อาทิเช่น “คู่มือทักษะการระวังป้องกันตัวเบื้องต้นในสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับเด็กในพื้นที่ชายแดนภาคใต้” นิทานชุดโรงเรียนปลอดภัยรอบด้าน Survival Skills ตอน “ความปลอดภัยทางน้ำ” อดัมกับฟาตีมา ตอน “พิชิตเพลิงไหม้” การและการฝึกทักษะเพื่อความปลอดภัย อาทิเช่น การช่วยคนตกน้ำ ด้วยวิธีตะโกน โยน ยื่น การทำ CPR และอื่น ๆ อีกมากมาย

ขอบคุณข้อมูล : NEWS

error: Content is protected !!