ข่าวใหม่อัพเดท » เหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดฝึกอบรมอาสาสมัครสอนเสริม เพื่อใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านเขียนภาษาไทย ด้วยเทคนิคสแกฟโฟลดิง (Scaffolding)

เหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดฝึกอบรมอาสาสมัครสอนเสริม เพื่อใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านเขียนภาษาไทย ด้วยเทคนิคสแกฟโฟลดิง (Scaffolding)

18 กันยายน 2022
0

เหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดฝึกอบรมอาสาสมัครสอนเสริม เพื่อใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านเขียนภาษาไทย ด้วยเทคนิคสแกฟโฟลดิง (Scaffolding) สอนเสริมนอกเวลาเรียนแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ สานพระราชปรารภของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนที่ไม่สามารถพูดอ่าน เขียนภาษาไทยได้

วันที่ 17 กันยายน 2565 ที่ หอประชุมโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาจ.พระนครศรี อยุธยา นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรี อยุธยา/รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมต้อนรับ นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครสอนเสริม เพื่อใช้ชุดฝึกทักษะการอ่านเขียนภาษาไทย ด้วยเทคนิคสแกฟโฟลดิง (Scaffolding) ของเหล่ากาชาดจังหวัด ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย โดยมี ดร.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ผู้รับใบอนุญาตและประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา และคณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ มีครูประจำการสอนภาษาไทย และศึกษานิเทศก์ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 60 คน และมีผู้แทนหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ วิทยากรจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ พร้อมคณะ เจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย ในฐานะวิทยากรต้นแบบ และผู้สังเกตการณ์ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด กล่าวว่า ปัจจุบันมีเหล่ากาชาดจังหวัดที่สมัครใจเข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ จำนวน 50 จังหวัด โดยเหล่ากาชาดจังหวัดมีภารกิจ รวม 3 กิจกรรม ได้แก่

  • กิจกรรมที่ 1 สรรหาอาสาสมัครมาช่วยสอนเสริมในช่วงนอกเวลาเรียนให้กับนักเรียนชั้น ป.1 – ป.6 ที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผล ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
  • กิจกรรมที่ 2 ลงเยี่ยมโรงเรียนเป้าหมาย เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน และ
  • กิจกรรมที่ 3 แสวงหางบประมาณมาจัดหา “ถุงยังชีพการศึกษา เสริมปัญญาเยาวชน” เพื่อแจกจ่ายให้กับเด็กนักเรียนยากจน และเด็กนักเรียนเป้าหมาย จะได้นำแบบเรียนแบบฝึกหัดต่างๆ ที่บรรจุภายในถุงยังชีพฯ ไปฝึกทักษะด้านการอ่านการเขียนภาษาไทยได้อย่างต่อเนื่องที่บ้าน หรือนอกเวลาเรียน

ดังนั้น อาสาสมัคร คุณครูประจำการ และบุคลากรทางการศึกษา จึงมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะสานต่อพระราชปรารภของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภา กาชาดไทย ในการช่วยกันทำให้เด็กสามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ และจะเป็นกลไกที่สำคัญที่ทำให้นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และของสภากาชาด ไทย บรรลุผลและประสบความสำเร็จดังเจตนารมณ์


สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา

error: Content is protected !!