ข่าวใหม่อัพเดท » “อลงกรณ์” ชงโครงการ เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ ภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกตุลาคมนี้

“อลงกรณ์” ชงโครงการ เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ ภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกตุลาคมนี้

21 สิงหาคม 2022
0

“อลงกรณ์” ชงโครงการ ”เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์” ภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกตุลาคมนี้ เผย “กรกอ.” เดินหน้า 10 โครงการ พร้อมเร่งจัดตั้งเขตส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม18 กลุ่มจังหวัดหวังกระจายการลงทุนกระจายโอกาสสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ชูระเบียงเศรษฐกิจ5ภาคทั่วประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เปิดเผยวันนี้ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ครั้งที่ 3/2565 ผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Meeting โดยกล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบ 2 ประเด็นสำคัญ คือ

1) การขับเคลื่อนสาหร่ายพืชเศรษฐกิจใหม่ตามนโยบายอาหารแห่งอนาคต( Future Food Policy)โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยส่งเสริมสาหร่ายทะเล(Seaweed)และสาหร่ายตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์การแปรรูปและการตลาดมีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการได้มีการจัดทำแผนพัฒนาและแผนกลยุทธ์เป็นการพัฒนาการผลิตในระดับท้องถิ่นให้เป็นผลผลิตและผลิตภัณฑ์ชุมชน( Community based product) มุ่งเน้นการผลิตสาหร่ายทะเลและสาหร่ายน้ำจืดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ อาหารเสริม เวชภัณฑ์ เครื่อง สำอางค์ และน้ำมันชีวภาพเป็นต้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืดเร่งเดินหน้าในการรวบรวมพันธุ์ การเพาะเลี้ยงและการเผยแพร่พันธ์ุ ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่ 50 จังหวัด แบ่งเป็น 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล และ 28 จังหวัดบนบก มีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นกว่า 2,600 แห่ง เป็นหนึ่งในเครือข่ายการขับเคลื่อนรวมทั้งการส่งเสริมในระดับอุตสาหกรรมภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิเวิลด์วิว อินเตอร์เนชั่นแนล (Worldview International Foundation), มูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมต (Worldview Climate Foundation) และศูนย์ AIC ร่วมดำเนินการ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยสงขลานัครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาสาหร่ายของศูนย์ความเป็นเลิศ ALEC ของ ”วว.” และบริษัทเอกชน เช่น ปตท. และบางจาก กำลังวิจัยและพัฒนาต่อยอดสาหร่ายพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ซึ่งประธานและคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมเมื่อเร็วๆ นี้ โดยย้ำว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการผลิตสาหร่ายเพื่อใช้ในประเทศและทดแทนการนำเข้า ปัจจุบันมีการผลิตสาหร่ายทั่วโลกปีละกว่า 35 ล้านตัน เป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้าน จึงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่และอาชีพใหม่ของไทย ซึ่งคิดออฟโครงการสาหร่ายทะเลที่อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

2) การรับทราบผลการประชุมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในวาระที่ประธาน
กรกอ.และคณะกระทรวงเกษตรฯ.ไปแสดงความยินดีกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารสอท.ชุดใหม่โดยมีมติเห็นพ้องต้องกันใน10 โครงการของ “กรกอ.” ได้แก่

  1. โครงการพัฒนาแบรนด์สินค้าเกษตร (The Brand Project) สู่เกษตรมูลค่าสูง
  2. โครงการอาหารแห่งอนาคต (Future Food)
  3. โครงการส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม Made In Thailand
  4. โครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพเกษตร และ SME เกษตร
  5. โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรระหว่าง สวก. AIC และสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ของ ส.อ.ท.
  6. โครงการมหานครผลไม้และการพัฒนาอุตสาหกรรมผลไม้ และโครงการ Eastern Thailand Food Valley
  7. โครงการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารมาตรฐานฮาลาล
  8. โครงการ Smart Agriculture Industry (SAI in the City)
  9. โครงการสนับสนุนการจำหน่ายและบริโภคผลไม้ในฤดูกาลผลิตผลไม้ปี 2565
  10. การฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้ง สินค้าประมงและปศุสัตว์ รวมทั้งระบบความเย็น (Cold Chain system)

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารได้แก่ แนวทางและมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในกลุ่มจังหวัดนำร่อง โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้แจ้งให้ทราบว่าบีโอไอ.(BOI)ได้อนุมัติเพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรแล้ว ซึ่งการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของ18 กลุ่มจังหวัดสามารถดำเนินได้ทันทีตามมาตรการใหม่ของบีโอไอ.ทั้งนี้ขอให้คำนึงถึงความพร้อมใน 3 ประเด็นหลัก คือ พื้นที่ ผู้ประกอบการ และสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบเป้าหมาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

อีกทั้งที่ประชุม ได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.ภาค)ได้แก่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกในการจัดทำแผนพัฒนาสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารปี 2566 – 2570 ตามศักยภาพแบบครบวงจรให้แล้วเสร็จภายในกันยายนปีนี้เพื่อประกาศแผนพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่13

โดยที่ประชุมได้ให้ข้อแนะนำในการจัดทำแผนพัฒนา และประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิเรื่องระบบโลจิสติกส์(Logistics) เข้ามาสร้างโอกาสใหม่ๆโดยให้ 18 กลุ่มจังหวัด ร่วมกับ กรกอ. และ BOI ดำเนินการร่วมกัน ซึ่งถ้าสามารถบริหาร Logistic ได้ ก็จะสามารถลดต้นทุนได้ เช่น อีสานเกตเวย์มีรถไฟจีน-ลาว เป็นเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศ, เวสเทิร์นเกตเวย์หรือประตูตะวันตก มี ”กาญจนบุรี-ทวาย” เป็นประตูตะวันตก , หรือประตูเหนิอมีเชียงรายใช้เส้นทางR3A เป็นโลจิสติกส์ลิงก์(Logistics Link) เป็นตัวอย่างพร้อมทั้งกล่าวถึงการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ว่าแต่ละภาคไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ต้อง customize สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ต่อยอดโดยใช้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตเป็นเข็มทิศเพื่อเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่มากพอที่จะสร้างฐานอุตสาหกรรมเกษตรยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูง โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูป เน้นการบริหารจัดการร่วมกัน เชื่อว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นายอลงกรณ์ยังเปิดเผยด้วยว่าโครงการ Eastern Thailand Food Valley : ETEV ภายใต้EECซึ่งคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board)ร่วมในการสนับสนุนนั้นตนและคณะรวมทั้ง กรกอ.ภาคตะวันออก จะลงพื้นที่ภาคตะวันออกในเดือนหน้าเพื่อเร่งจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการผลไม้ครบวงจรที่จันทบุรี พร้อมกล่าวชื่นชมการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ที่มีการประสานบูรณาการการจัดทำแผนพัฒนาระหว่าง กรกอ. BOI และ สภาพัฒน์ฯ.ไปในทิศทางเดียวกัน “ขณะนี้มี 4 กลุ่มจังหวัด ที่กำลังเดินหน้าจัดตั้งเขตส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมและในการประชุมกรกอ.ครั้งหน้า ตนจะเสนอโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์(Petchburi Food Valley)ภายใต้เกตเวย์ตะวันตกและระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก (Western Economic Corridor) เป็นโครงการพัฒนาตั้งแต่การผลิตพืช ประมงและปศุสัตว์ การแปรรูปขั้นต้น การใช้เกษตรอัจฉริยะสมาร์ทฟาร์มมิ่งก์ การใข้เครื่องจักรกลเกษตรที่ทันสมัย การพัฒนาศูนย์วิจัยเพื่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร เป็นหนึ่งใน”เพชรบุรีโมเดล”ดำเนินการโดยภาคเอกชนภายใต้การสนับสนุนของกรกอ.และศูนย์AIC นอกจากนี้จะเดินทางไปกาญจนบุรีเพื่อฟื้นฟูและเร่งรัดโครงการประตูตะวันตกโดยเฉพาะโครงการกาญจนบุรี-ทวายซึ่งจะประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศจากตะวันออกกลาง อินเดีย จีน อาเซียนและญี่ปุ่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเขตส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันตก ยังเป็นโครงการที่มีศักยภาพและอนาคตแต่ช่วงโควิดทำให้เกิดความชะงักงัน ตอนนี้สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย จึงต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการโดยเร็วอีกครั้งหนึ่ง”

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับแก้ไขคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ทั้งในส่วนของ สอท. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

การประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) ครั้งที่ 3/2565 ผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Meeting เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายกิจก้อง ตันติจรัสวโรดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั้ง 5 ภาค นายณกรณ์ ตรรกวิระพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมี นางสาวกัลยา สงรอด ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการ


error: Content is protected !!