ข่าวใหม่อัพเดท » ปลัดมหาดไทย นำทีมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ

ปลัดมหาดไทย นำทีมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ

29 มิถุนายน 2022
0

ปลัดมหาดไทย นำทีมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมป์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และคณะร่วมกันลงพื้นที่ติดตามดำเนินงานโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ โดยมีนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คณะหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงาที่เกี่ยวข้องและสมาชิกกลุ่มทอผ้าร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพเป็นโครงการที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับชุมชนทอผ้าที่มีเอกลักษณ์ และเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการทอ เส้นใย สีธรรมชาติ ไปจนถึงการออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยให้ทันสมัย สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้ทุกเพศทุกวัย เป็นการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระปณิธาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณรี นารีรัตนราชกัญญา ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทย ทั้งเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอให้เห็นเป็นที่ประจักษ์

โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า และให้คำปรึกษา คำแนะนำเพิ่มเติม สำหรับการทำการบ้านที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานพระวโรกาสให้กลุ่มทอผ้าต่าง ๆ ในพื้นที่ เฝ้ารับพระราชทานคำแนะนำเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้า ให้มีความร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นธรรมชาติ และการบอกเล่าเรื่องราวประจำถิ่น ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ในวันที่ 23 มกราคม 2565 ประกอบด้วย กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองวัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว หมู่ที่ 2 ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า, กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโคกสะอาด ตำบลบ้านเสียว อำเภอนาหว้า, กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน อำเภอนาหว้า

นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองวัดศรีบุญเรือง และกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ รวมทั้งยังได้ร่วมปลูกต้นหม่อนแก้ว ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นถิ่นของจังหวัดนครพนม มีลักษณ์ลำต้นใหญ่ ใบหนา และทนแล้งได้ดี เพื่อเป็นวัตถุดิบในการเลี้ยงไหมในอนาคต ดูการปรับปรุงสภาพโรงเรือนสำหรับการเลี้ยงไหม และปลูกต้นจานเพื่อเป็นวัตถุดิบในอนาคตสำหรับการใช้ในการย้อมสีผ้า โดยในโอกาสนี้ยังได้นำผู้บริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคลงพื้นที่ด้วย ทำให้เมื่อเมื่อเห็นสภาพแสงสว่างในอาคารของแต่ละแห่งแล้ว ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเห็นว่าความสว่างไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของสมาชิกกลุ่มทอผ้าทุกคนที่ทำงาน จึงจะนำเอาโครงการติดตั้งและปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง มาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับทุกกลุ่มแบบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวก ช่วยทุกคนถนอมสายตา และช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น และมีความสุขกับการทำงานมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์ โครงการ “นาหว้าโมเดล” มีแนวคิดในการออกแบบด้วยการนำภาพดอกจานที่เป็นดอกไม้พื้นถิ่นแถบอีสานเหนือมาจัดวางให้เป็นรัศมีของดวงอาทิตย์ เพื่อสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ที่เปล่งประกายสดใส

เนื่องด้วยในวันที่ 23 มกราคม 2565 เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเยี่ยมบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นช่วงที่ดอกจานเริ่มบานสะพรั่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นการพัฒนารูปแบบใหม่ ซึ่งภาพดอกจาน 10 กลีบ สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มีการออกแบบรัศมีดอกจานให้วนขวา เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและความเป็นมงคล ส่วนตัวอักษร S สองตัวตรงกลาง หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้พระราชทานโครงการศิลปาชีพฯ ให้แก่ปวงชนชาวไทย และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์ผู้สืบสาน รักษาและต่อยอดโครงการศิลปาชีพฯ และภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดิน และใช้โครงสร้างสีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาและสีส้มที่สดใสของดอกจานยังหมายถึงความมุ่งมั่นและพลังแห่งการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยก้าวไกลสู่ระดับสากล


หลาวเหล็ก​/รายงาน

error: Content is protected !!