ข่าวใหม่อัพเดท » “รมช.เกษตรฯ​ ธรรมนัส” สั่งฝนหลวงช่วยภัยแล้ง จ.ขอนแก่น,จ.ชัยภูมิ และจ.ยโสธร ด่วน เร่งกรมชลฯเปิดทางส่งน้ำดิบทำประปา วิกฤติหนัก

“รมช.เกษตรฯ​ ธรรมนัส” สั่งฝนหลวงช่วยภัยแล้ง จ.ขอนแก่น,จ.ชัยภูมิ และจ.ยโสธร ด่วน เร่งกรมชลฯเปิดทางส่งน้ำดิบทำประปา วิกฤติหนัก

10 สิงหาคม 2019
0

          เมื่อวันที่ 9​ ส.ค.62​ : ร.อ.ดร.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ เดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่น​ เพื่อตรวจสถานการณ์พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยจังหวัดขอนแก่น​ ประกาศเขตภัยพิบัติแล้งถึง 24 อำเภอ​ จากทั้งหมด 26 อำเภอ ซึ่งที่แรกได้ไปเยี่ยมเยียนประชาชนอำเภอชุมแพ,อำเภออุบลรัตน์ และอำเภอซำสูง โดยให้นโยบายว่า สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนที่สุดตอนนี้คือ การจัดหาแหล่งน้ำเสริมและการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมชลประทาน,กรมฝนหลวง​และการบินเกษตร,กรมส่งเสริมการเกษตร,กรมวิชาการเกษตร และกรมการข้าวบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน​ อย่างเร่งด่วน

          นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ทั้งหมด 6,803,744 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 4,873,125 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 195,771 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.87 ของพื้นที่ทั้งหมด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 1 แห่งคือ เขื่อนอุบลรัตน์ ความจุเก็บกัก 2,431.30 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบัน (9 ส.ค.62) มีปริมาณน้ำ 541.41 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22.27 ของความจุเก็บกัก น้ำใช้การได้ 40.26 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 2.18 อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศวันละ 0.50 ล้าน ลบ.ม. มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่ง ความจุรวม 105.88 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำ 28.61 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27.02 ของความจุทั้งหมด มีน้ำใช้การได้ 13.28 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 14.96 อ่างขนาดกลางที่มีความจุน้อยกว่าร้อยละ 30 มี 10 แห่ง ส่วนสถานการณ์น้ำ​ แม่น้ำชีตอนบน​ และแม่น้ำชีตอนกลางอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สำหรับแม่น้ำชีตอนล่าง​ อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เพราะน้ำค่อนข้างน้อย สำหรับสาเหตุที่อ่างขนาดใหญ่​ และขนาดกลางมีน้ำน้อยเนื่องจากฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นมีฝนตกสะสม (1 ม.ค.- 9 ส.ค. 62) วัดได้ 507.8 มิลลิเมตรซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 59.54

          ด้านนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 รายงานว่า ได้ช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพน้ำในลำน้ำชีตื้นเขินด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งได้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนมหาสารคาม​ และเขื่อนร้อยเอ็ดเพื่อให้สถานีสูบน้ำเพื่อการประปาที่อยู่ตลอดสองฝั่งลำน้ำชีนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค ตลอดจนยังเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ของลำน้ำ อีกทั้งนำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกเปิดทางน้ำ ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือ พร้อมลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ชะลอการปลูกข้าวออกไป ส่งผลให้ในปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีดีขึ้น ในปัจจุบันจึงได้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนลำปาวลงลำน้ำชีเพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการอุปโภค-บริโภค ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด ยืนยันว่า ปัจจุบันไม่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการประปาและจะมีน้ำเพียงพอตลอดถึงฤดูแล้ง 2562/63 สำหรับการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โครงการส่งน้ำฯ หนองหวาย ได้ส่งน้ำหน้าฝายหนองหวายกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. ไปช่วยนาข้าวในอำเภอน้ำพองกว่า 160,000 ไร่ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือนาข้าว 4,200 ไร่ ที่ตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง​ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากอ่างทุ่งพังพืดเข้าสู่บ่อพักน้ำดิบเพื่อผลิตประปาช่วยเหลือราษฎร ตำบลหัวทุ่ง อำเภอพล 430 ครัวเรือน นอกจากนั้นโครงการส่งน้ำฯ ชีกลางเพิ่มน้ำเหนือเขื่อนมหาสารคามเพื่อให้สถานีผลิตน้ำประปาท่าพระ (หนองบัวดีหมี) ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง​ มีน้ำดิบใช้ผลิตน้ำประปาด้วย

          สำหรับที่จังหวัดชัยภูมิประกาศเขตภัยพิบัติแล้ง 7 ตำบลในอำเภอบำเหน็จณรงค์​ ได้สูบน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เข้าช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว ส่วนที่จังหวัดยโสธรนั้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลางขุดเปิดสันตะกอนทรายท้ายเขื่อนร้อยเอ็ด เพื่อให้การระบายน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวันนี้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนร้อยเอ็ดจากเดิมวันละ 420,000 ลบ.ม. เป็นวันละ 1.80 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเติมน้ำชีตอนล่างหน้าเขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธร เพื่อสนับสนุนน้ำในการการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขา จ.ยโสธร​ ต่อไป

สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!