ข่าวใหม่อัพเดท » กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม (Sustainable and Cultural Community)”

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม (Sustainable and Cultural Community)”

20 มกราคม 2022
0

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม (Sustainable and Cultural Community)” มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันยังคงรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาดังกล่าว

วันที่ 20 มกราคม 2565 กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม (Sustainable and Cultural Community)” โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และ ศาสตราจารย์ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวโครงการฯ ณ ห้อง i Think อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานแถลงข่าว นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พัฒนาคุณค่าวัฒนธรรม สร้างสรรค์ความยั่งยืน” ว่าด้วยความสําคัญของมูลค่าวัฒนธรรมท้องถิ่นและการเพิ่มมูลค่าของวัฒนธรรมดังกล่าว ทั้งวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้โดยยังคงรักษาอัตลักษณ์เดิมไว้และต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมเดิมให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับการดําเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรมในการสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ภายใต้การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม ได้กล่าวในตอนท้ายว่า

“การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากกลุ่มคนเล็กๆ จําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนในพื้นที่ เพื่อทําให้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเกิดการพัฒนาไปเป็นภาพจํา และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้จึงเป็นส่วนสําคัญที่จะทําให้เกิด ชุมชนยั่งยืน หวนคืนวัฒนธรรม ขึ้นในประเทศของเรา”

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นวัตกรรมสู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน” โดยได้กล่าวถึงบทบาทของนวัตกรรมที่สามารถนํามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนนั้นๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในงานแถลงข่าว ยังได้จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “ชุมชนยั่งยืน หวนคืนวัฒนธรรม” โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นางสาวเพชรรัตน์สายทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายตรีเทพ ไทยคุรุพันธ์กรรมการผู้อํานวยการ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อัญชลีชุมนุม ผู้อํานวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองยโสธร ซึ่งในเสวนาวิชาการดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงที่มาและความสําคัญของความยั่งยืน โดยสะท้อนผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติและการสร้างชุมชนยั่งยืนจากมุมมองของภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนกรณีศึกษาชุมชนยั่งยืนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งโครงการชุมชนยลวิถีของกระทรวงวัฒนธรรม และเทศบาลเมืองยโสธร อําเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร อีกด้วย

ทั้งนี้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี (นับเวลาจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565) สามารถอ่านรายละเอียดขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับสมัคร และสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ shorturl.at/tDJR6 หรือทาง QR Code ที่ปรากฏในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2565 และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ cuengworkshop@gmail.com หรือที่ facebook เพจ “เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา” ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00–17.00 น.


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!