ข่าวใหม่อัพเดท » “ชำนาญ” ร้อง (กต.) ค้าน “อนุรักษ์” นั่งปธ.แผนกคดี ทุจริตฯ เหตุทำผิดกฎหมาย ฝ่าจริยธรรมอื้อ

“ชำนาญ” ร้อง (กต.) ค้าน “อนุรักษ์” นั่งปธ.แผนกคดี ทุจริตฯ เหตุทำผิดกฎหมาย ฝ่าจริยธรรมอื้อ

14 สิงหาคม 2021
0

“ชำนาญ” ร้อง (กต.) ค้าน “อนุรักษ์” นั่งปธ.แผนกคดีทุจริตฯ เหตุทำผิดกฎหมาย ฝ่าจริยธรรมอื้อ

รายงานข่าวจากศาลยุติธรรมเเจ้งว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค.64 ที่ผ่านมา นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ทำหนัง สือถึงประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) และกรรมการ (กต.) เรื่องคัดค้านการแต่งตั้งนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ โดยมีใจความสำคัญว่า ตามที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเสนอบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการวาระ 1 ต.ค.64 (บัญชี4) ลำดับที่ 115 (นายอนุรักษ์ฯ) ไปดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์นั้น

ตนได้มีหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 15 เม.ย.64 ถึงประธานศาลฎีกาขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฎหมายกรณีมีเหตุควรสงสัยว่าข้าราชการ (กต.) ทำผิดวินัยกรณีหาเสียงให้ (กต.) ลง/งดเว้นการลงคะแนนเลือกบุคคลเป็น (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 36(3) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ปรากฏว่ามีผู้ใช้โปรไฟล์ไลน์ J29Anurak และภาพถ่ายนายอนุรักษ์ฯ เป็นหนึ่งในผู้โพสต์ข้อความในไลน์สภาตุลาการ อันมีลักษณะหาเสียงให้ นายไผทชิต เอกจริยกรและนายจำนง เฉลิมฉัตรในการเลือก (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิ

หนังสือร้องเรียนระบุว่า ประธานศาลฎีกายังไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอันเป็นการเข้าลักษณะการหาเสียงตามประกาศคณะกรรม การศาลยุติธรรมเรื่องแนวทางการพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมในการหาเสียง วันที่ 3 ต.ค.57 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 17 วรรคสี่ และมีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา 17 และมาตรา 62 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอนุรักษ์ฯ เป็น (กต.) ที่ต้องควบคุมและลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนจริยธรรมของ (กต.) “มาตรา 37 วรรคสามแห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯ ประกอบกับข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2561 ข้อ 9 ยังกำหนดหน้าที่ของ (กต.) เกี่ยวกับการเลือก (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 36 (1)(2)(3) ที่ระบุว่าการวินิจฉัยของ (กต.) ให้ถือเป็นที่สุดรวมทั้งมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ. ระเบียบฯระบุว่ากรณีข้อสังสัยการพ้นตำแหน่งของ (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิบัญญัติให้ (กต.) เป็นผู้ชี้ขาด

ดังนั้นมีกฎหมายกำหนดหน้าที่โดยตรงของนายอนุรักษ์ฯ ซึ่งเป็น (กต.) ในขณะนั้นในการดูแลกระบวนการเลือกตั้ง (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิให้ถูกกฎหมาย อีกทั้งมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯ และข้อบังคับของปรานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือก (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2561 ข้อ 29 ระบุชัดเจนถึงการไม่ให้หาเสียงเพื่อให้ (กต.) ลง/งดเว้นการลงคะแนนเลือกบุคคลเป็น (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลที่จะวินิจฉัยคือ (กต.) และนายอนุรักษ์ฯ ซึ่งเป็น (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลอุทธรณ์ในขณะนั้นย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัยการเลือก (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิในขณะนั้น

แต่ปรากฏว่านายอนุรักษ์ฯ พบว่าผู้พิพากษาหลายรายโพสต์ข้อความให้มีการ ลง/งดเว้นการลงคะแนนเลือกบุคคลเป็น (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิให้ผู้สมัครรายหนึ่งรายใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและจริยธรรม นายอนุรักษ์ฯ กลับไม่ห้ามปรามและนายอนุรักษ์ฯ กลับเข้าร่วมด้วยในการหาเสียงให้นายไผทชิตฯ และ นายจำนงฯ การกระทำที่ผิดวินัยของนายอนุรักษ์ฯ ที่มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา 17 วรรคสี่แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 172 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ใจความในหนังสือร้องเรียนของนายชำนาญฯ ระบุ หนังสือร้องเรียนระบุว่า นายชำนาญฯ ยังคัดค้านอีกประการหนึ่งว่า นายอนุรักษ์ฯ จงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการนำมติ (กต.) ครั้งที่ 8-9/2562 ที่เห็นชอบให้แต่งตั้งนายชำนาญฯ เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญการพิเศษ และสำนักงานศาลยุติธรรมส่งหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้วกลับมาทบทวนและกลับมติ (กต.) เดิมเป็นไม่ให้ความเห็นชอบรวมทั้งลงมติให้นายชำนาญฯ พ้นจากราชการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ

หนังสือร้องเรียนของนายชำนาญฯ ระบุว่า การที่ (กต.) จะเห็นชอบและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลใดให้ดำรงตำแหน่งประธาน แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ นั้นควรต้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติมิชอบด้วยกฎหมายหรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และตนยังแจ้งความที่สน.ชนะสงคราม ต่อนายอนุรักษ์ฯ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งร้องเรียนไปที่สำนักงาน (ปปช.) กล่าวโทษนายอนุรักษ์ฯ ฐานเป็นเจ้าพนักงานรัฐปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

“ย่อมเป็นการไม่เหมาะสมที่ (กต.) จะให้ความเห็นชอบและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายอนุรักษ์ฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ ที่นายอนุรักษ์ฯ ยังมีคดีอยู่ที่สำนักงาน (ปปช.) และยังคัดค้านนายไผทชิตฯ และนายจำนงฯ (กต.) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมลงมติในครั้งนี้ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในเรื่องนี้” หนังสือร้องเรียน ของนายชำนาญฯ ระบุ


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!